X

อาลัยยิ่ง ปธน.อิหร่าน ผู้ล่วงลับ

ปูมหลัง เอบราฮิม ไรซี ผู้นำสายแข็งของอิหร่าน

อิหร่านสูญเสียครั้งใหญ่ ประธานาธิบดีเอบราฮิม ไรซี ถึงแก่กรรมในวัย 63 ความเป็นไปในอิหร่านหลังจากนี้จะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด มาทำความรู้จักกับประธานาธิบดีผู้ล่วงลับ ที่ยังถูกยกเป็นเต็งหนึ่งผู้สืบทอดตำแหน่ง อยาโตลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอีกด้วย

เอบราฮิม ไรซี เกิดเมื่อปี 2503 ที่เมือง มาชชาด เมืองใหญ่อันดับสอง และที่ตั้งสิ่งศักดิสิทธิ์ของอิสลามนิกายชีอะห์ เติบโตในครอบครัวเคร่งศาสนา เพราะคุณพ่อเป็นผู้นำศาสนา ไรซีเดินตามรอยพ่อด้วยการเข้าเรียนโรงเรียนสอนศาสนาที่เมือง กุม ในวัย 15 ปี

สมัยเป็นนักเรียน ไรซีเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตก และถูกโค่นล้มจากการปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐภายใต้การนำของอยาโตลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำสูงสุดคนแรก

หลังการปฏิวัติ ไรซีเข้าทำงานในฝ่ายตุลาการ เริ่มจากตำแหน่งอัยการในเขตคาราช ชานกรุงเตหะราน ในวัยเพียง 20 ปี ก่อนเป็นอัยการในหลายเมือง และได้รับการฝึกฝนจากอยาโตลเลาะห์ คาเมเนอี ที่ต่อมาขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2524

ปี 2531 ตอนที่ไรซี เป็นรองอัยการกรุงเตหะราน ในวัยเพียง 25 ปี เขาได้รับเลือกเป็น 1ใน 4 ผู้พิพากษาในคณะตุลาการลับ ที่ต่อมารู้จักกันในชื่อ “คณะกรรมการแห่งความตาย” นำตัวนักโทษหลายพันคนที่กำลังรับโทษจำคุกจากกิจกรรมทางการเมืองมาพิจารณาคดีใหม่ โดยส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มฝ่ายซ้ายอย่าง องค์การมูญาฮีดีนของประชาชนอิหร่าน หรือ PMOI

จำนวนคนที่ถูกตัดสินประหารจากคณะตุลาการลับ ไม่แน่ชัด แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชน ประเมินกันว่า
น่าจะมีนักโทษชายและหญิงราว 5 พันคนที่ถูกประหารและฝั่งในสุสานนิรนาม ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ บรรดาผู้นำอิหร่านไม่เคยปฏิเสธเรื่องการประหาร แต่ไม่ลงรายละเอียดในเรื่องนี้ในทุกประเด็น รวมถึงความชอบด้วยกฎหมายของคดี

การมีส่วนร่วมกับการพิพากษาครั้งนั้น ทำให้ไรซี ได้ฉายาว่า จอมเชือดแห่งเตหะราน และถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร ฐานละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ ไรซี ปฏิเสธหลายครั้งว่า ไม่เคยมีบทบาทในการสั่งประหาร แต่ก็บอกว่า มีความชอบธรรม เพราะเป็น ฟัตวา หรือคำตัดสินทางศาสนา จากอยาโตลเลาะฮ์ โคไมนี

ในปี 2559 เทปเสียงการประชุมในปี 2531 ระหว่างไรซี ตุลาการในคณะ และอยาโตลเลาะห์ ฮุสเซน อาลี มอนตาเซรี ผู้ช่วยผู้นำสูงสุดของอิหร่านในเวลานั้น เกิดรั่วไหลออกมา ในเทปเสียงนี้ มอนตาเซรี พูดว่า การสั่งประหารในครั้งนั้นเป็น อาชญากรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สาธารณรัฐอิสลาม หนึ่งปีต่อมา มอนตาเซรี หลุดจากถูกวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดของโคไมนี และอยาโตลเลาะห์ คาเมเนอี ก็ได้ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดอิหร่านแทน

การลงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2560 ของไรซี สร้างความประหลาดใจ และก็พ่ายแพ้ให้กับ ฮัสซัน โรฮานี ที่ชนะเลือกตั้งสมัยที่สองถล่มทลาย ไรซีได้คะแนนเพียง 38 % หลังนำเสนอตัวว่าเป็นนักปราบคอรัปชั่น แต่ถูกกล่าวหาว่าแทบไม่ได้ทำอะไรเพื่อสะสางปัญหานี้ ตอนเป็นรองหัวหน้าตุลาการสูงสุด

แต่ภาพลักษณ์ของไรซี ไม่สะเทือน ในปี 2562 อยาโตลเลาะฮ์คาเมเนอี แต่งตั้งให้เขาเป็นหัวหน้าตุลาการสูงสุด และยังได้รับเลือกเป็นรองประธานสมัชชาผู้เชี่ยวชาญ 88 คน ที่มีหน้าที่เลือกผู้นำสูงสุดคนใหม่

ในฐานะหัวหน้าตุลาการ ไรซีปฏิรูปที่นำไปสู่การลดจำนวนการประหารชีวิต แต่ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ประหารนักโทษมากที่สุดรองจากจีน และยังคงร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคงกวาดล้างผู้เห็นต่าง และดำเนินคดีกับชาวอิหร่านสองสัญชาติ หรือชาวต่างชาติที่พำนักในอิหร่านจำนวนมากในข้อหาจารกรรม เมื่อตอนประกาศลงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2564 ไรซีประกาศว่า เขามาในฐานะผู้สมัครอิสระ ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในการบริหารประเทศ จะลดความยากจน ทุจริต และการเลือกปฏิบัติ

การลือกตั้งในปีนั้น สภาผู้พิทักษ์ ตัดสิทธิ์ผู้สมัครสายกลางและสายปฏิรูปที่มีความโดดเด่นหลายคน ทำให้มีเสียงเรียกร้องให้บอยคอตเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่ากระบวนการเลือกตั้งถูกจัดวางมาแล้วเพื่อให้ไรซีไม่ต้องเจอคู่แข่ง และที่สุด เขาก็ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 62% ตั้งแต่รอบแรก แต่มีคนออกมาใช้สิทธิ์เพียง 49%

#บก.ข่าวทีวี #อิหร่าน #ไรซี #ฮ.ตก

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น