“อนุทิน” ปาฐกถาเวที UN และ EU เน้นย้ำมท. พร้อมผู้ว่า 76 จังหวัด เดินหน้าพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน – Top News รายงาน
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม ESCAP Hall ชั้น 2 ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปาฐกถาพิเศษในพิธีปิดโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติในเชิงพื้นที่ “SDGs Localization: Thailand’s Journey Towards Sustainability” โดยมี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ฯพณฯ เดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) ผู้ว่าราชการจังหวัดนำร่อง 15 จังหวัด คณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย คณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ร่วมรับฟัง
นายอนุทิน กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการการเสริมสร้างความเข้มแข็งการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติเชิงพื้นที่ (SDGs Localization) ในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งผลักดันการขับเคลื่อน SDGs ในระดับท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น โดยมีกรอบการทำงานในระยะแรกของโครงการใน 15 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
การดำเนินการภายใต้โครงการ มีการจัดทำ 1. ฐานข้อมูล ผ่านการทำ SDGs Profile เพื่อวิเคราะห์ถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของจังหวัด ยุทธศาสตร์การปฏิบัติงานของจังหวัด วิเคราะห์ความสอดคล้องของประเด็นการขับเคลื่อน SDGs จังหวัดเปรียบเทียบตามเกณฑ์มาตรฐานและตัวชี้วัดสากล (Global Indicator) และการทำ SDGs Survey เพื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชนภายในจังหวัดนำร่องฯ ต่อประเด็นการพัฒนาต่าง ๆ ภายใต้การขับเคลื่อน SDGs และหาแนวทางแก้ไขให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ 2. พัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพของบุคลากร โดยมีการจัดอบรมเพื่อให้ทั้งผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรของกระทรวงมหาดไทยได้มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นเรื่อง SDGs ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ เป็นการบูรณาการการทำงานจากหลายภาคส่วนไปพร้อม ๆ กัน 3.สร้างความตระหนักรู้ด้าน SDGs ภายใต้โครงการฯ ผ่านการสื่อสารด้วยสื่อประชาสัมพันธ์ชนิดต่างๆ