ขอให้ศึกษารายงานของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติดในผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง ช่วงปี 2563-2564 ในประเทศไทย ซึ่งศึกษาโดย ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัยและคณะ
โดยการศึกษาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่กัญชายังเป็นยาเสพติดแต่ใช้ทางการแพทย์ได้ กลับพบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับกัญชา นอกระบบ ของกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 84 และมีประชาชนใช้กัญชานอกเหนือข้อบ่งใช้ในโรคต่างๆนอกเหนือการประกาศของกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 84 ทั้งที่ตอนนั้น ก็คลายล็อกให้ใช้ทางการแพทย์ได้ แต่กลับมียากัญชาถึงมือประชาชนน้อยเหลือเกิน ทั้งที่กัญชา มีประสิทธิภาพ ในการรักษา เพราะ ผลการศึกษาเดียวกันนี้พบว่า หลังใช้กัญชา ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นถึงดีขึ้นมากถึงร้อยละ 93 ทั้งผู้ป่วยเบาหวาน แพ้เหงื่อตัวเองแพ้ความร้อน งูสวัด ก้อนเนื้อที่กระเพาะปัสสาวะ AIDS สะเก็ดเงิน ภูมิแพ้ ก้อนเนื้อที่ต่อม ลูกหมาก นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ อัมพาตครึ่งซีก เก๊าท์ ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจอ่อนๆ เป็นต้น
นี่คือประสิทธิภาพของกัญชา ซึ่งประชาชนต้องลอบใช้ แม้ว่า ตอนนั้น จะคลายล็อกก็ตาม
เราทราบกันดีว่าที่แพทย์ ไม่จ่ายยากัญชา ก็เพราะข้ออ้างว่าไม่ได้มีงานวิจัยที่ชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ และไม่ได้เป็นข้อบ่งใช้ภายใต้ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข หรือมีอคติและความไม่เข้าใจในเรื่องกัญชา แม้กระทั่งแต่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับยาแผนปัจจุบันอย่างอื่น สุดท้ายแล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้ ประชาชน ที่ใช้กัญชาเป็นทางเลือกด้านการรักษาสุขภาพ ก็หมดโอกาสนั้น เพราะหมอไม่สั่งยา นี่คือปัญหา ของการนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด แล้วให้สิทธิ์เฉพาะกับแพทย์ในการจ่ายยา ก็เหมือนทำลายยากัญชาไปโดยปริยาย
“ดังนั้น อย่ามาอ้างว่าถึงเอากลับเป็นยาเสพติด ประชาชน ก็ใช้กัญชาดูแลสุขภาพตัวเองได้ เพราะประสบการณ์ มันให้คำตอบไว้หมดแล้ว ขนาดคลายล็อกให้ใช้ ประชาชนยังเข้าไม่ถึง หากเอากลับไปเป็นยาเสพติด ก็อวสานได้เลย”
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีก คนที่ใช้กัญชานอกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพราะแพทย์ไม่จ่ายยาให้ ก็ต้องกลับไปเป็นอาชญากรนำไปติดคุกตะรางนั้น เหมาะสมแล้วหรือไม่ นี่ก็เป็นคำถามที่ต้องตอบให้ได้
ทั้งนี้ หากมีการนำกัญชา กลับไปเป็นยาเสพติดแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ การมีข้อกำหนดที่ยุ่งยากและเป็นภาระเกินไปในสถานพยาบาลทุกแห่ง ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ไม่เป็นมิตรกับการจ่ายกัญชาให้คนไข้ แล้วก็เลือกที่จะไม่จ่าย แม้ชาวบ้านจะร้องขอก็ตาม
และในความเป็นจริงในช่วงกัญชาเป็นยาเสพติดแต่อ้างว่าใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ปรากฏว่าผลิตภัณฑ์กัญชาที่รัฐบาลลงทุนผลิตให้โรงพยาบาลต่างๆจ่ายให้ผู้ป่วย กลับปรากฏว่าแพทย์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายกัญชาให้คนไข้และปล่อยให้ผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาหมดอายุไป ในขณะที่ประชาชนกลับต้องหาน้ำมันกัญชาใต้ดินเพื่อมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
ณ จุดหนึ่งประชาชนจะหาทางเข้าถึงยากัญชาเอง แล้วจะเกิดเรื่องแบบเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ที่คุณยายอายุ 70 ปี ปลูกกัญชาเพื่อต้มกินรักษาโรคเพื่อการพึ่งพาตัวเอง แต่กลับถูกจับกุมและขังคุก เราต้องการให้เหตุการณ์ทำนองนี้กลับมาอีกหรือไม่
“เรื่องของกัญชา จะต้องคำนึงถึง 2 ด้าน คือ เมื่อกัญชา คือ ยา มีสรรพคุณในการรักษา เราต้อง
1.เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาได้มากขึ้นโดยไม่ถูกผูกขาดอยู่กับกลุ่มทุนทางการแพทย์บางกลุ่ม
2.ออกกฎหมายคุ้มครองผู้ที่ไม่ได้ใช้กัญชาอย่างเข้มงวด และผู้ที่ห้ามใช้กัญชาอย่างเคร่งครัด และยังกำหนดให้มีบทลงโทษรุนแรงกว่ายาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ก็ยังได้
และการจะทำเช่นนั้นได้ ไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาด้วยการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดโดยอ้างว่าจะยังคงใช้ทางการแพทย์ได้ แต่จะปล่อยให้สถานการณ์ที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมทั้งระบบก็ไม่ได้เช่นกัน
ทางออกเรื่องนี้จึงทำได้เพียงประการเดียวคือ ต้องเร่งตราพระราชบัญญัติในการใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชา และกัญชงทั้งระบบ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเอาความจริงมาพูดกันเท่านั้น”