ล่าช้าเพราะใครแน่ “Top News” สรุปข้อเท็จจริง “รถไฟฟ้าสีส้ม”

ล่าช้าเพราะใครแน่ "Top News" สรุปข้อเท็จจริง "รถไฟฟ้าสีส้ม"

ล่าช้าเพราะใครแน่ “Top News” สรุปข้อเท็จจริง “รถไฟฟ้าสีส้ม

กลายเป็นประเด็นให้ Top News ต้องนำเสนอข้อเท็จจริงเรื่องนี้อีกครั้ง จากกรณีการวิพากษ์วิจารณ์เหตุปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้า

สำหรับ “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม” เริ่มต้นจากแผนแม่บทสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ว่าด้วยการวางโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีการเริ่มต้นกำหนดตั้งแต่ปี 2547 จากนั้นในปี 2553 มีการปรับเปลี่ยนแนวเส้นทางมาเป็นตลิ่งชัน-มีนบุรี และกลายเป็นบางขุนนนท์-มีนบุรี ในปัจจุบัน

ต่อมาได้มีการจัดแผนดำเนินโครงการออกเป็น 2 ส่วน คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันออก เริ่มจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี)

ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2558 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. รับผิดชอบลงทุนงานโยธาเองทั้งหมด วงเงินรวม 95,108 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 9,625 ล้านบาท และ ค่าก่อสร้างงานโยธารวม 85,483 ล้านบาท

และส่วนที่ 2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก เริ่มจากตลิ่งชัน – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

ครม.มีมติเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 ให้จัดการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ *** PPP Net Cost รวมมูลค่าโครงการ 142,789 ล้านบาท แยกเป็นงานโยธา วงเงินลงทุน 128,128 ล้านบาท (รวมค่าจ้างที่ปรึกษา) และ ค่าเวนคืน 14,661 ล้านบาท

โดยภาครัฐจะเป็นฝ่ายลงทุนค่าเวนคืนที่ดิน เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนภาคเอกชนจะรับผิดชอบการลงทุนงานโยธา งานระบบไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า ค่าจ้างที่ปรึกษา และ ค่าซ่อมบำรุงรักษาตลอดเส้นทาง ซึ่งภาคเอกชนจะได้รับสิทธิบริหารการเดินรถตลอดเส้นทาง (ส่วนตะวันตกและตะวันออก) เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากวันเริ่มเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

จากประเด็นว่าด้วยที่มาโครงการตามมติครม.เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 มาถึงจุดประเด็นปัญหาจริง ๆ ในการทำให้โครงการรถไฟฟ้าสีส้มล่าช้า จากข้อมูลไทม์ไลน์เหตุการณ์ ดังนี้

ข่าวที่น่าสนใจ

วันที่ 3 เม.ย. 2563 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ดำเนินการเปิดพิจารณารับฟังความเห็น ภาคเอกชนเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน หรือ กระบวนการ Marketing Sounding

วันที่ 20 เม.ย. 2563 ถึงวันที่ 22 เม.ย. 2563 รฟม.สรุปผลรับฟัง ความคิดเห็นของภาคเอกชน เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการจัดทำร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน หรือ ทีโออาร์ ตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

วันที่ 3 – 9 ก.ค. 2563 รฟม.โดย คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 จัดทำเอกสารคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal: RFP) พร้อมรายละเอียดประกาศ เชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการฯ

วันที่ 10 – 24 ก.ค. 2563 รฟม. จำหน่ายเอกสารคัดเลือกเอกชน หรือ RFP ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 1 อาคาร 1 รฟม. พร้อมกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายใน วันที่ 23 ก.ย. 2563

วันที่ 24 ก.ค. 2563 วันสุดท้ายของการจำหน่ายเอกสารคัดเลือกเอกชน สรุปมี 10 บริษัทเอกชน ให้ความสนใจซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ ประกอบด้วย

1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC
3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS
4. บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC)
5. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD)
6. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH)
7. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK)
8. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF)
9. บริษัท ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด (ประเทศจีน)
10. บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด

 

ประเด็นต้องพิจารณาประกอบการซื้อเอกสาร ประมูลโครงการของทั้ง 10 บริษัท ก็คือ ตามมติครม.เรื่องรถไฟฟ้าสีส้ม เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2563 ซึ่งเป็นการอนุมัติโครงการและวงเงินงบประมาณรายจ่ายของโครงการ ตามมาตรา 28 แห่งพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ตามที่คณะกรรมการ PPP เสนอเป็นหนังสือ ส่งถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2562 เพื่อเสนอครม.ประกอบการอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า “ผู้ชนะการคัดเลือก จะต้องเป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ขอรับเงินสนับสนุน รวมทั้งสองส่วนจากภาครัฐ เมื่อคิดเป็นค่าปัจจุบัน (NPV) ต่ำที่สุดจะเป็นผู้ชนะการคัดเลือก”

“เอกสารถึงเลขาฯคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2562 เขียนกำกับไว้ว่า …..จากผลการประเมินความคุ้มค่าของเงิน หรือ Value for Money (VfM) รฟม.พิจารณาแล้วเห็นว่า การให้เอกชนร่วมลงทุนโดยใช้รูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลาดำเนินงาน 30 ปี รวมก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐสูงสุด โดยในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ควรกำหนดให้เอกชน แยกเสนอมูลค่าผลตอบแทนแก่รัฐหรือเงินที่ต้องการให้รัฐสนับสนุนเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1.ค่าลงทุนจัดหาระบบรถไฟฟ้าและให้บริการเดินรถไฟฟ้า
2.ค่าลงทุนงานโยธาฝั่งตะวันตก รวมถึงเพดานอัตราดอกเบี้ยที่เอกชน จะให้รัฐรับชำระคืนโดยกำหนดเงื่อนไข การชำระคืนที่เป็นประโยชน์แก่ภาครัฐ เพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ สามารถประเมินข้อเสนอในแต่ละส่วนได้อย่างครบถ้วน โดยผู้ยื่นข้อเสนอที่ขอรับเงินสนับสนุน รวมทั้งสองส่วนจากภาครัฐ เมื่อคิดเป็นค่าปัจจุบัน (NPV) ต่ำที่สุดจะเป็นผู้ชนะการคัดเลือก

 

แต่ปรากฎว่า วันที่ 7 ส.ค. 2563 บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) หนึ่งในผู้ซื้อซองประมูล ได้ทำหนังสือถึง รฟม. เพื่อขอเปลี่่ยนแปลงทีโออาร์ หรือ เงื่อนไขการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่กำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มจำหน่ายเอกสารคัดเลือก

วันที่ 21 ส.ค. 2563 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดแถลงข่าว ระบุ ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มีข้อสรุปว่าจะปรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ใหม่ทั้งหมด

โดยเปลี่ยนไปใช้เกณฑ์พิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค (สัดส่วน 30 คะแนน) และข้อเสนอซองที่ 3 ด้านการเงิน (สัดส่วน 70 คะแนน) มาพิจารณารวมกัน พร้อมแจ้งขยายเวลายื่นเอกสารประกวดราคาจาก 60 วัน ไปอีก 45 วัน หรือจากกำหนดให้ยื่นเอกสารในวันที่ 23 ก.ย.2563 เลื่อนไปเป็นวันที่ 6 พ.ย.2563 โดยอ้างว่าเพื่อให้เอกชนมีเวลาปรับปรุงข้อเสนอให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งมีสาระสำคัญว่าด้วยหลักเกณฑ์การตัดสินผู้ชนะการประมูล

จากเดิม “ผู้ชนะการคัดเลือก จะต้องเป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ขอรับเงินสนับสนุน รวมทั้งสองส่วนจากภาครัฐ เมื่อคิดเป็นค่าปัจจุบัน (NPV) ต่ำที่สุดจะเป็นผู้ชนะการคัดเลือก”

และจุดนี้จึงเป็นที่มาของการดำเนินการทางกฎหมายของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในฐานะบริษัทเอกชนที่ได้รับความเสียหาย จากการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูลที่เกิดขึ้นของคณะกรรมการมาตรา 36 และ รฟม.

 

วันที่ 17 ก.ย. 2563 BTSC ยื่นฟ้องศาลปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราว ระงับการแก้ไขทีโออาร์ หรือ เงื่อนไขการประมูล โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

วันที่ 19 ก.ย. 2563 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลาการบังคับ การประะมูลรถไฟฟ้าสายส้ม ตามเกณฑ์ใหม่ที่แก้ไขโดย คณะกรรมการมาตรา 36 และ รฟม.

วันที่ 3 ก.พ. 2564 คณะกรรมการมาตรา 36 และะ รฟม. เลือกใช้วิธียกเลิกประกาศเชิญชวน และ ยกเลิกการประมูล โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

วันที่ 22 ก.พ. 2564 BTSC ยื่นฟ้อง คณะกรรมการมาตรา 36 และ ผู้บริหาร รฟม. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ฐานกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 165

วันที่ 1 ก.ย. 2564 รฟม.และคณะกรรมการ มาตรา 36 เดินหน้าประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รอบ 2 ภายใต้การเปลี่ยนเงื่อนไขการประมูลใหม่ เน้นการให้คะแนนด้านเทคนิคสูงขึ้น และ กำหนดประสบการณ์ผู้ยื่นข้อเสนอโครงการ ว่า จะต้องเคยเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานรัฐที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย ภายในระยะเวลา 20 ปี ครบทั้ง 3 ประเภท

คือ งานออกแบบอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะ , งานออกแบบก่อสร้างสถานีใต้ดิน และ งานออกแบบ ก่อสร้างทางวิ่ง พร้อมรางที่ 3 แบบไม่ใช้หินโรยทาง ทำให้ BTSC รวมถึง กลุ่มพันธมิตร ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลโครงการได้ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์งานโยธา ครบทั้ง 3 ประเภท ตามเงื่อนไขประมูล

 

วันที่ 27 ก.ค. 2565 รฟม.สรุป ผู้ยื่นซื้อเอกสารประมูล โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม 14 ราย แต่มีผู้ยื่นซองประกวดเพียง 2 กลุ่มบริษัท คือ

1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท

2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับบริษัทขนส่งอินช็อน (Incheon Transit Corporation) ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินประเทศเกาหลีใต้ เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท

วันที่ 8 ก.ย. 2565 รฟม.ประกาศผลประมูล บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะประมูล เนื่องจาก ผ่านเกณฑ์ด้านคุณสมบัติและเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐสุทธิ (NPV) -78,287.95 ล้านบาท โดยมาจากการหักลบระหว่างส่วนที่เอกชนจะตอบแทนให้รัฐ กับเงินที่เอกชนขอให้รัฐช่วยเหลือ

 

 

วันที่ 12 ก.ย. 2565 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ประสานติดต่อ รฟม. ขอรับเอกสารการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 1 กลับคืน แต่ รฟม. เลือกว่าจ้างบริษัทเอกชน ส่งเอกสารจำนวน 4 กล่อง กลับคืนให้ BTSC

และจากการเปิดซองประกวดราคา ยืนยันว่า BTSC เป็นบริษัทเอกชนที่เสนอเงื่อนไขดีที่สุด โดยขอรับเงินสนับสนุนค่างานโยธา รวม 79,820.40 ล้านบาท และ มีการจ่ายเงินตอบแทนให้แก่ รฟม. รวม 70,144.98 ล้านบาท รวมยอดเงินขอสนับสนุนจากภาครัฐ เพียง 9,676 ล้านบาท

 

 

โดยกรณีดังกล่าว ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งทางราง ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า กรณีของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เสนอผลประโยชน์สุทธิให้ รฟม. ติดลบ 78,287.95 ล้านบาท หมายความว่า BEM เสนอผลตอบแทนให้ รฟม. น้อยกว่าเงินที่ขอรับสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. ทำให้ รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BEM จำนวน 78,287.95 ล้านบาท

 

 

ขณะที่ BTSC เสนอผลประโยชน์สุทธิให้ รฟม.ติดลบ 9,675.42 ล้านบาท หมายความว่า รฟม.จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BTSC จำนวน 9,675.42 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชนะการประมูลในการประมูลครั้งที่ 2 คือ BEM พบว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BEM มากกว่าให้แก่ BTSC ถึง 68,612.53 ล้านบาท ! (78,287.95-9,675.42)

 

 

 

อย่างไรก็ตามถึงแม้การเดินหน้าต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC อาจไม่ประสบผลทั้งหมด แต่เห็นได้ชัดว่าขั้นตอนต่าง ๆ ล้วนเป็นไปตามสิทธิทางกฎหมายและความชอบธรรมที่พึงควร จากการได้รับผลกระทบในสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการ มาตรา 36 และ รฟม. เลือกจะรื้อ แก้ไข ทีโออาร์ การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตั้งแต่ 21 ส.ค. 2563 หรือ เกือบ 4 ปี ที่แล้ว จนกลายเป็นสิ่งสะท้อนได้ว่า โดยข้อเท็จจริงจุดเริ่มต้นความล่าช้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มาจากใครกันแน่?

ขณะเดียวกันต้องจับตาดูกันต่อไปว่า โครงการรถไฟฟ้าสีส้ม มูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท จะมีบทสรุปตามที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แสดงความมั่นใจว่า ภายหลังศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2567 จะพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น พิพากษายกฟ้องในคดีที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องว่ารฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีร่วมกันออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลว. 24 พ.ค.2565 และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค. 2563 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย

และทางกระทรวงคมนาคมจะได้เร่งตรวจร่างสัญญาฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ระหว่างรฟม. และ BEM ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาลงนามร่างสัญญากับผู้ชนะการประมูลต่อไปในไม่ช้านี้

 

เนื่องจากปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มยังมีคดีความติดค้่าง ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จากกรณี BTSC ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้องผู้ว่าการ รฟม.เป็นจำเลยที่ 1 และพวกรวม 7 คน ซึ่งเป็นคณะกรรมการ ม.36 ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172

ตลอดจน BTSC ยังได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดกรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ)

โดยบริษัทฯ ได้พิจารณาแล้วพบว่า ข้อกำหนดเงื่อนไขในสาระสำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ มีเจตนากีดกันบริษัทฯ ไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใดอย่างชัดเจน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542

ส่วนความผิดในการร้องทุกข์กล่าวโทษในครั้งนี้เป็นการกระทำที่เข้าลักษณะความผิด ตามประกาศ กำหนดรายละเอียดของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ของคณะกรรมการคดีพิเศษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ที่มีหรือมีมูลน่าเชื่อว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาเพื่อเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีวงเงินหรือมูลค่าตั้งแต่สามสิบล้านบาทขึ้นไป เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และหากต้องส่งให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา ขอให้ร้องขอต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้ดำเนินการตามมาตรา 28 วรรคท้าย ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ด้วย​

 

ประเด็นสำคัญที่สุด คือ ความเห็นของ นางสุมาลี ลิมปโอวาท ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะตุลาการเสียงข้างน้อย กรณีศาลปกครองสูงสุด พิพากษายกฟ้องในคดีที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องว่ารฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่าด้วยการรื้อแก้ไข ทีโออาร์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม ครั้งที่ 1 ว่า การดำเนินการของคณะกรรมการมาตรา 36 และ รฟม.เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้ยึดมติครม.และความเห็นคณะกรรมการ PPP เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2562 ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนว่า “ผู้ชนะการคัดเลือก จะต้องเป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ขอรับเงินสนับสนุน รวมทั้งสองส่วนจากภาครัฐ เมื่อคิดเป็นค่าปัจจุบัน (NPV) ต่ำที่สุดจะเป็นผู้ชนะการคัดเลือก” ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นการทำหน้าที่ของ Top News ในการนำเสนอข่าวสาร ข้อเท็จจริง อย่างเกาะติดมาโดยตลอดเกือบ 4 ปี จากกรณีที่เกิดขึ้นเท่านั้น

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน
สถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองฯ ชาติพันธุ์ชุมชนชาวเลโต๊ะบาหลิว
ผบ.ตร.สั่งสอบคลิปแก๊งต่างด้าว แสดงพฤติกรรมเย้ยกม. กำชับคุมเข้ม ใช้ยาแรง
รมว.วัฒนธรรม เปิดงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 14 ชุมชนชาวเลโต๊ะบาหลิว กระบี่ เร่งส่งเสริมวิถีชีวิต วัฒนธรรมชาวเล

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น