กรมประมง จับไม่หยุด “ปลาหมอคางดำ” เดินหน้าฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ

กดติดตาม TOP NEWS

25 มิถุนายน 2567 – กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงและประมงจังหวัดสมุทรสงคราม จัดกิจกรรม “ลงแขก-ลงคลอง” ครั้งที่ 4 จับปลาไม่หยุด ขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและคืนความหลากหลายทางชีวภาพสู่ธรรมชาติและชุมชน

สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ตลอดจนมีการบูรณาการมาตรการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ทั้งการควบคุมปริมาณและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และมีการพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดปลาหมอคางดำ ตามเป้าหมายในการลดปริมาณปลาชนิดนี้อย่างมีนัยสำคัญ

กิจกรรม “ลงแขก-ลงคลอง” ครั้งที่ 4 จัดขึ้น ณ คลองแพรกหนามแดง หมู่ที่ 4 ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำในระดับต้นๆ ตามแผนงานของกรมประมง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนในชุมชน อย่างไรก็ตาม ในการจับปลาแต่ละครั้งและแต่ละพื้นที่มีปัญหาและอุปสรรคแตกต่างกัน แต่เจ้าหน้าที่ไม่เคยละความพยายามในการจับปลาโดยมีการปรับเปลี่ยนวิธีการและเครื่องมือให้เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น

สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่พบในวันนี้ คือ ในคลองมีท่อนไม้และกิ่งไม้ชิ้นใหญ่จำนวนมาก มีเศษวัสดุเหลือใช้ถูกนำมาทิ้งจมอยู่ใต้น้ำ ทำให้การลากอวนไม่ถึงหน้าดิน ปลาหมอคางดำจึงหลุดรอดออกไปได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ปรับวิธีการโดยนำตาข่ายมาดักจับเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการเล็ดลอดของปลาหมอคางดำ

สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม รายงานว่า จากกิจกรรมลงแขก-ลงคลอง ครั้งที่ผ่านมา พบมีสัตว์น้ำตามธรรมชาติชนิดอื่นๆ ติดขึ้นมากับการจับปลาด้วย เช่น กุ้งทะเล กั้ง ปู แมงดาทะเล นับเป็นสัญญาณที่ดีด้านความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ยังต้องรอสรุปประเมินผลสัมฤทธิ์ของกิจกรรมตามหลักวิชาการ เพื่อความถูกต้องและแม่นยำอีกครั้ง จากกิจกรรม 3 ครั้งที่ผ่านมา สามารถจับปลาหมอคางดำได้ 740 กิโลกรัม และมีการนำไปเพิ่มมูลค่าเป็นปุ๋ยชีวภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารและเมนูอาหารต่างๆ

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการจับปลาหมอคางดำเพื่อการบริโภคและใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และสร้างสรรค์เมนูอาหารในรูปแบบใหม่ๆ ตามแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นรายได้ให้กับคนในชุมชน เพื่อจูงใจให้มีการจับปลาหมอคางดำมากขึ้น โดยดำเนินการควบคู่ไปกับกิจกรรมลงแขก-ลงคลอง กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติทุกพื้นที่ของจังหวัดสงคราม

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ เป็นมาตรการเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการควบคุมและลดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เน้นการจับด้วยเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพและเหมาะกับสภาพพื้นที่ ควบคู่กับการกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงการปล่อยปลาผู้ล่าเพื่อช่วยกำจัดลูกปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำซึ่งเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดของปลาดังกล่าว

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าลดปริมาณปลาหมอคางดำอย่างจริงจังนำร่องใน 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยมุ่งเน้นการแก้ไขแบบบูรณาการด้วยการผนึกกำลังกัน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากที่สุดในการบรรเทาความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ ช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืนสู่แหล่งน้ำอย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น