“เพิ่มพูน” หนุนสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ส่งเสริมผู้เรียนพิการสู่การเปลี่ยนผ่านการศึกษาสายอาชีพ พึ่งพาตนเองได้ในสังคม

กดติดตาม TOP NEWS

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างทักษะชีวิตสำหรับผู้เรียนพิการ สู่การเปลี่ยนผ่าน (ปฐมนิเทศนักศึกษาพิการ ประจำปีการศึกษา 2567) และแสดงผลงานด้านการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา

โดยมีนายยศพล เวณุโกศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวรายงายการดำเนินงาน พร้อมกันนี้ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูงสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา หน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน จำนวน 481 คน เข้าร่วม ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีความมุ่นมั่น ตั้งใจในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับผู้เรียนทุกคน ยกระดับการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยเชื่อมั่นว่าผู้เรียนทุกคนจะมีความสุข ถ้าได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาคกัน จึงได้กำหนดนโยบายลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ให้สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรีมีงานทำ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มุ่งสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิตผู้เรียน และประชาชนได้เรียนตามความสนใจและความถนัดของตนเอง โดยเฉพาะผู้พิการที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง จำเป็นต้องได้รับโอกาสในการเข้าถึงทางการศึกษาและการฝึกทักษะวิชาชีพ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถพึ่งพาตนเอง ใช้ชีวิตในสังคม และเกิดความมั่นคงของชีวิตได้ เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าของสังคม “บุคลากรทางการศึกษา คือส่วนสำคัญที่ช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา สร้างความเสมอภาค สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ ให้นักศึกษาทุกคนจงตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เพียรพยายามแสวงหาความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เมื่อจบการศึกษาไปแล้วให้นำความรู้ไปประกอบสัมมาอาชีพตามที่ได้ตั้งใจไว้” รมว.ศธ. กล่าว

ด้านนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นำนโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ สู่การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอาชีวศึกษา 8 วาระงานพัฒนาอาชีวะ โดยวาระงานที่ 1 “ส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษาทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime)” ขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอาชีวศึกษา (Vocational for All) จากการดำเนินงานดังกล่าว สอศ. ได้จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างทักษะชีวิตสำหรับผู้เรียนพิการสู่การเปลี่ยนผ่าน และแสดงผลงานด้านการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา เพื่อส่งเสริมผู้เรียนพิการในมิติต่างๆ โดยภายในงานจัดให้มีนิทรรศการการดำเนินงานศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษ (ศพอ.) นิทรรศการ 5 เมืองอาชีพ ได้แก่ เมืองผ้าและผลิตภัณฑ์ เมืองศิลปะ เมืองอาหาร เมืองสุขภาพ และเมืองอุตสาหกรรม นิทรรศการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อคนพิการและนิทรรศการสถานศึกษาเฉพาะทาง เช่น วิทยาลัยสารพัดช่าง (วช.) สุรินทร์ เฉพาะทางความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย และทางสติปัญญา, วช.เชียงใหม่ เฉพาะทางทางความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างการ และทางสติปัญญา เป็นต้น ซึ่งมีกลุ่มคนพิการทั้ง 7 ประเภท ได้แก่ พิการทางการเห็น พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย พิการจิตใจหรือพฤติกรรม พิการทางสติปัญญา พิการทางการเรียนรู้ และพิการทางออทิสติก ร่วมแสดงผลงานและสาธิตอาชีพด้วย

โดยในปีการศึกษา 2567 มีคนพิการจำนวน 1,853 คน ได้เข้าศึกษาในสถานศึกษาสังกัด สอศ. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น 2 % จากปีการศึกษา 2566 เพื่อให้คนพิการและประชาชนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้รับการ (Up Skill, Re Skill) มีหลักสูตร 86 หลักสูตร มีคนพิการผ่านการฝึกอบรมแล้วกว่า 2,000 คน สอศ. ให้ความสำคัญกับคนพิการที่เป็นประชาชนกลุ่มเปราะบางในสังคม เพื่อไม่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และยังเป็นกลุ่มเป้าหมายต่อพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งเชื่อมั่นว่าหากกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการขัดเกลาและพัฒนาให้มีศักยภาพเพียงพอแล้ว จะสามารถเป็นกำลังคนของประเทศที่มีประสิทธิภาพ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษาในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการสู่สังคม และช่วยสร้างโอกาส ความเสมอภาคสำหรับคนพิการให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาสายอาชีพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค ศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาจังหวัด สถานศึกษาเฉพาะทางความพิการ สถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนคนพิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านคนพิการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น