เวบไซต์สำนักข่าว นิว สเตรทส์ ไทมส์ สื่อมาเลเซีย รายงานอ้างคำกล่าวของ นายโมฮัมหมัด ซาบู รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหารของมาเลเซีย ที่พูดตอนหนึ่งในระหว่างแถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนว่า การขึ้นทะเบียนคุ้มครอง ทุเรียนพันธ์มูซังคิง ในต่างประเทศ เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้นานาชาติได้รู้จักและยอมรับว่า เป็นสินค้าเกษตรของมาเลเซีย เนื่องจากทุเรียนมูซังคิง กำลังได้ความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีน กระทรวงเกษตรและหน่วยงานด้านการค้าระหว่างประเทศของกระทรวง ฯ จะเริ่มดำเนินการเรื่องนี้
ตัวอย่างสินค้าต่างประเทศ ที่ได้รับการคุ้มครอง ผ่านการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เช่น แชมเปญ ซึ่งเป็นสปาร์คกลิ้งไวน์ หรือไวน์มีฟอง ที่จะต้องผลิตในภูมิภาคชองปาญของฝรั่งเศสเท่านั้น หรือ เนื้อโกเบ ที่จะต้องผลิตจากโคพันธุ์เฉพาะและเลี้ยงในพื้นที่เฉพาะของญี่ปุ่น
มาเลเซียจะเริ่มส่งออกทุเรียนผลสดสู่ตลาดจีนได้เป็นครั้งแรก ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ อันเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU 10 กว่าฉบับที่สองฝ่ายลงนาม เมื่อ 19 มิถุนายน ระหว่างการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง ของจีน
ก่อนหน้าเซ็น MOU มาเลเซียส่งออกได้แค่ เนื้อทุเรียนแช่แข็ง เนื้อทุเรียนบด และทุเรียนแช่แข็งทั้งลูกเท่านั้น รัฐมนตรีเกษตรฯมาเลเซีย กล่าวว่า การส่งออกทุเรียนเป็นเรื่องของผู้ทำธุรกิจ แต่กระทรวงฯจะกำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจว่าทุเรียนมาเลเซียที่ส่งออกไปได้คุณภาพ
มาเลเซียส่งออกทุเรียนในปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 1,140 ล้านริงกิต หรือประมาณ 8,900 ล้านบาท ส่วนใหญ่ส่งออกไปจีน
ทุเรียนเหมาชานหวัง หรือ มูซังคิง เป็นพันธุ์พื้นเมืองและได้ชื่อว่า ราชาทุเรียนของมาเลเซีย มีเนื้อสีเหลืองจัด รสชาติหวานหอม ขมนิด ๆ เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคในจีน แต่ราคาสูง นอกจากมาเลเซียแล้ว ยังมีปลูกในสเกลเล็ก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเวียดนามและไทย
ที่มา NST