“สพท.-สสส.” ร่วมหนุนเสริม สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 30 ปราจีนบุรี พัฒนาการเรียนรู้ทักษะอาชีพ โครงการ Gig Worker ให้เยาวชนแรงงานและผู้ใช้แรงงานได้มีอาชีพเสริม และ อาชีพอิสระ รองรับความเสี่ยงการจ้างงานในอนาคต

กดติดตาม TOP NEWS

"สพท.-สสส." ร่วมหนุนเสริม สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 30 ปราจีนบุรี พัฒนาการเรียนรู้ทักษะอาชีพ โครงการ Gig Worker "ทำขนมฟิวชั่น" และ "ธุรกิจเครื่องดื่ม" ให้เยาวชนแรงงานและผู้ใช้แรงงานได้มีอาชีพเสริม และ อาชีพอิสระ บรรเทาปัญหาเศรษฐกิจปากท้องรองรับความเสี่ยงการจ้างงานในอนาคต

TOP News นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) ในฐานะประธานโครงการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสิทธิและสุขภาพในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยนางวาสิษฐี ระจิตดำรงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 30 ปราจีนบุรี กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีความร่วมมือกับ สพท. และ สหภาพแรงงานซันโยแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้ทักษะอาชีพ ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะเฉพาะของแรงงานอิสระยุค 4.0 หรือ โครงการ Gig Worker ปี 2567 สนับสนุนการ ฝึกทักษะอาชีพ จำนวน 30 ชั่วโมง ให้ได้รับวุฒิบัตร และ เครื่องมือทำมาหากิน วงเงินไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน จำนวน 2 รุ่นๆละ 20 คน รุ่นที่ 1 ทำขนมฟิวชั่น ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 1 – 5 มิ.ย. 2567 และ รุ่นที่ 2 ธุรกิจเครื่องดื่ม ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 28 มิ.ย. – 2 ก.ค. 2567 ณ สหภาพแรงงานซันโยแห่งประเทศไทย จ.ปราจีนบุรี

นายมนัส กล่าวว่าเป้าหมายของการพัฒนาทักษะอาชีพ โครงการ Gig Worker เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เพิ่มพูนความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดเพื่อให้มีศักยภาพในการพึ่งพาตนเองและสร้างรายได้ในการดำรงชีวิตโดยใช้ทรัพยากรที่มีในพื้นที่ และ มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่าน หรือ ปรับตัว หากต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจเปราะบาง และการจ้างงานในอนาคต สามารถประกอบอาชีพเสริม หรือ อาชีพอิสระ จากทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในชุมชน รวมถึงได้รับใบประกอบอาชีพมาตรฐานฝีมือแรงงาน ทำให้สามารถนำเอาองค์ความรู้ที่ไปต่อยอดสมัครงานหรือประกอบอาชีพส่วนตัวได่อย่างมั่นคงและมีความน่าเชื่อถือ

ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 30 ปราจีนบุรี กล่าวว่ายินดีร่วมสนับสนุนกิจกรรรมพัฒนาศักยภาพผู้ใช้แรงงาน 3 ส่วน คือ 1.ทักษะอาชีพ 2.ทักษะบริการ และ 3.ทักษะช่าง ถือเป็นการอัพสกิลแรงงานที่เป็นพนักงานโรงงานได้มี “อาชีพเสริม” ระหว่างทำงานประจำในโรงงาน เพราะค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาท/วัน ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ หรือ ค่าล่วงเวลา (โอที) วันละ 60 บาท/ชม.ไม่มีความแน่นอน ซึ่งการได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพ ให้ได้มี “อาชีพอิสระ” ไว้เป็นอาชีพใหม่ เพื่อรองรับชีวิตหลังเกษียณออกจากงานไปแล้วหรือ เผื่อไว้เป็นทางเลือกหากต้องออกจากงานกลางคัน หรือ เมื่อมีความเชี่ยวชาญเพียงพออยากไปทำธุรกิจส่วนตัวในอนาคต

ทั้งนี้โครงการพัฒนาทักษะอาชีพและยกระดับฝีมือแรงงานของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 30 ปราจีนบุรี ยังมีการยกระดับฝีมือแรงงานแก่ เยาวชนแรงงานที่ยากจนขาดแคลนทุนทรัพย์จบการศึกษาต่ำกว่า ม.3 อายุระหว่าง 15 – 18 ปี ไม่ได้เรียนต่อหลุดนอกระบบการศึกษาให้ได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ไม่หลงไปติดยาเสพติด เกมส์ หรืออบายมุขระหว่างรอเข้าสู่ตลาดแรงงานตอนอายุ 18 ปีขึ้นไป ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้มีทักษะฝีมือแรงงาน และ วุฒิบัตรไปสมัครงาน นอกจากนี้ยังพัฒนาทักษะอาชีพแก่ผู้ใช้แรงงาน มาตรา 33 ประกันสังคม ที่ทำงานในโรงงานตอบสนองความต้องการของนายจ้างและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ อาทิ ช่างเชื่อมแก๊สหรือไฟฟ้าที่ใช้กับเครื่องปรับอากาศ และ ตู้เย็นของโรงงานไฮเออร์ หรือ สอนภาษาจีนแก่พนักงานโรงงานเพื่อใช้สื่อสารกับนายจ้างที่เป็นคนจีน ฯลฯ สำหรับรูปแบบการสนับสนุนของ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 30 ปราจีนบุรี เห็นว่าควรบูรณาการร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน มีทั้ง ภาครัฐสนับสนุนวิทยากรฟรี หรือ แนะนำวิทยากรให้ในเกณฑ์ราชการราคาย่อมเยาว์ 600 บาท/ชั่วโมง โดยภาคเอกชนร่วมสมทบ ด้านค่าใช้จ่ายวัสดุอุปกรณ์ หรือค่าเดินทางแก่วิทยากร เป็นต้น

นอกจากนี้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 30 ปราจีนบุรี ได้หนุนเสริม เยาวชนแรงงานบางส่วนที่อยู่ในโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่เยาวชนนอกระบบการศึกษาจังหวัดปราจีนบุรี ภายใต้ โครงการพัฒนาการเรียนรู้เยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ว่างงานยังไม่มีงานทำ และ ไม่ได้อยู่ในมาตรา 33 ไม่เป็นลูกจ้างมีงานทำ ได้ร่วมพัฒนาการเรียนรู้ทักษะอาชีพ ทั้ง 2 รุ่น เพราะ “อาชีพลูกจ้าง” เป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคง เพราะความมั่นคงขึ้นอยู่กับขีดความสามารถและศักยภาพของนายจ้าง หรือ ผู้ประกอบการ ในการดำเนินธุรกิจ ถ้านายจ้างความสามารถในการแข่งขันต่ำ ลูกจ้างก็ถูกเลิกจ้าง ยิ่งนับวันเทคโนโลยีเครื่องจักรอัตโนมัติกำลังเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ การพัฒนาการเรียนรู้เพื่อนำไปพัฒนาตนเองจึงมีความสำคัญ

สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วม โครงการ Gig Worker คือ 1.กลุ่มประชาชนทั่วไปที่อายุ 18 – 59 ปี ว่างงาน ตกงาน หรือ ประกอบอาชีพอิสระ ไม่ได้อยู่ในมาตรา 33 ประกันสังคม ไม่เป็นลูกจ้างมีงานทำ และ 2.กลุ่มประชาชนทั่วไป อายุ 18 – 59 ปี ต้องมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

นายมนัส กล่าวว่าความร่วมมือพัฒนาการเรียนรู้ทักษะอาชีพแก่ผู้ใช้แรงงานในครั้งนี้ สหภาพแรงงานซันโยแห่งประเทศไทย ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการเป็นกลไกการทำงานเชิงพื้นที่ค้นหากลุ่มเป้าหมาย และเปิดพื้นที่เรียนรู้แก่ผู้ใช้แรงงานได้รับการบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจปากท้องจากการได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ทั้งอาชีพเสริม และ อาชีพอิสระ รวมถึงยกระดับฝีมือแรงงานเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมในกรณีที่เป็นเยาวชนแรงงานที่อยู่ในกลุ่มตกงานว่างงานหรือหลุดนอกระบบการศึกษา

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น