มาแรง “ทุเรียน” ราชาผลไม้ ที่ถูกพูดถึงในโลกโซเชียล 10,460 ครั้ง เช็กเรตติ้งกัน สายพันธุ์ไหน ถูกปากคนไทยมากสุด Top News รายงาน
บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสังคมออนไลน์ (Social Listening) และนำข้อมูลเรื่องทุเรียนมาวิเคราะห์ในช่วงวันที่ 1 พฤษภาคม – 20 มิถุนายน 2567 พบว่ามีการพูดถึง (Mention) ทุเรียน ถึง 10,460 ครั้ง และ ได้รับการมีส่วนร่วม หรือเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) จำนวน 3,556,174 ครั้ง โดยเฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นช่องทางที่ได้รับการ Mention และมี Engagement มากที่สุด
“หมอนทอง” สายพันธุ์ทุเรียนยอดฮิต
ช่วงฤดูกาลทุเรียน เป็นช่วงที่ทุเรียนออกผลผลิตจำนวนมาก มีทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือกสรรตามความชอบ โดยจุดเด่นของทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ย่อมแตกต่างกันออกไป ทั้ง หมอนทอง รสชาติหวานมันกำลังดี กลมกล่อม ไม่ได้หวานแหลมจนเกินไป และเนื้อเยอะ ก้านยาว รสชาติจะหวานมัน แต่มีขนาดเม็ดที่ใหญ่ ชะนี รสชาติจะหวานจัด กลิ่นแรง เนื้อสีเหลืองเข้ม และมีขนาดเม็ดที่เล็ก กระดุม รสชาติจะมีความหวานมากกว่าความมัน และเนื้อบาง หลงลับแล รสชาติจะมีความหวาน นม ละมุนลิ้น ภูเขาไฟศรีสะเกษ รสชาติหวาน มัน กลิ่นไม่ฉุนมากนัก และเนื้อจะมีความแห้ง ไม่แฉะ นกหยิบ รสชาติจะหวาน มัน ปานกลาง มีความคล้ายคลึงกับหมอนทอง และลูกไม่ใหญ่มาก
เมื่อพิจารณาข้อมูลจาก Social Media พบว่าสายพันธุ์ทุเรียนที่ได้รับการกล่าวถึงสูงสุด (Mention) คือ หมอนทอง 56.73% รองลงมา ชะนี ภูเขาไฟศรีสะเกษ ก้านยาว และกระดุม ตามลำดับ
ส่วนสายพันธุ์ที่มี Engagement สูงสุด คือ หมอนทอง เช่นเดียวกัน มี Engagement สูงถึง 64.53% รองลงมา ก้านยาว นกหยิบ หลงลับแล และภูเขาไฟศรีสะเกษ ตามลำดับ
นอกจากรสชาติ ยังพบว่า เนื้อสัมผัสของทุเรียนก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกบริโภค โดยเนื้อสุก นิ่ม และเนื้อกรอบนอกนุ่มใน ได้รับความนิยมมากในระดับใกล้เคียงกัน ส่วนเนื้อไก่ฉีก ซึ่งเป็นทุเรียนระยะแรกของเนื้อที่สามารถกินได้ มีความกรอบ รสชาติไม่หวานมาก เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบทุเรียนเนื้อกรอบและรสชาติไม่หวานจัด
5 สายพันธ์ทุเรียนยอดฮิตที่ถูกพูดถึงมากที่สุด (by mention)
- หมอนทอง 56.73%
- ชะนี 10.38%
- ภูเขาไฟศรีสะเกษ 6.13%
- ก้านยาว 5.98%
- กระดุม 5.88%
5 สายพันธ์ทุเรียนที่ได้รับความสนใจมากที่สุด (by engagement)
- หมอนทอง 64.53%
- ก้านยาว 7.89%
- นกหยิบ 6.24%
- หลงลับแล 5.05%
- ภูเขาไฟศรีสะเกษ 3.41%