นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างวันที่ 11 – 15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย
โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย พิธีบวงสรวงเทพยดา เนื่องในงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.19 น. ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ มีพิธีเปิดงานวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 เวลา 19.30 น. ณ ท้องสนามหลวง โดยกระทรวงวัฒนธรรมเชิญ นายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธี และคณะรัฐมนตรี เข้าร่วมและก่อนพิธีเปิดเวลา 17.30-19.00 น. มีกิจกรรมการเดินริ้วขบวนเฉลิมพระเกียรติฯ ประกอบด้วย ริ้วขบวน 26 ขบวน ที่มีทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ข้าราชการ ผู้แทนภาคเอกชนและประชาชนทั้งในกรุงเทพฯและภูมิภาคต่างๆ เข้าร่วมกว่า 2,800 คน ได้แก่
ขบวนที่ 1 วงดุริยางค์ 4 เหล่าทัพ
ขบวนที่ 2 ขบวนธงชาติไทย ธงตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ วปร. และธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา
ขบวนที่ 3 ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ 4 เหล่าทัพ
ขบวนที่ 4 รถเฉลิมพระเกียรติฯ กระทรวงวัฒนธรรม
ขบวนที่ 5 บุคลากรกระทรวงวัฒนธรรม
ขบวนที่ 6 รถเฉลิมพระเกียรติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและบุคลากร
ขบวนที่ 7 หน่วยงานราชการ 16 กระทรวง
ขบวนที่ 8 มรดกศิลปวัฒนธรรม ภาคเหนือ
ขบวนที่ 9 มรดกศิลปวัฒนธรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ขบวนที่ 10 มรดกศิลปวัฒนธรรม ภาคกลางและภาคตะวันออก
ขบวนที่ 11 มรดกศิลปวัฒนธรรม ภาคใต้
ขบวนที่ 12 รถเฉลิมพระเกียรติ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ขบวนที่ 13 รถเฉลิมพระเกียรติ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย
ขบวนที่ 14 ขบวนธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ขบวนที่ 15 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ขบวนที่ 16 ธนาคารออมสิน
ขบวนที่ 17 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
ขบวนที่ 18 กลุ่มบริษัท บีเจซี บิ๊กซี
ขบวนที่ 19 บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด
ขบวนที่ 20 บริษัท วันเอเชีย
ขบวนที่ 21 องค์การศาสนา 5 ศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดูและซิกข์
ขบวนที่ 22 บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
ขบวนที่ 23 บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด
ขบวนที่ 24 กลุ่มชาติพันธุ์
ขบวนที่ 25 เครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ขบวนที่ 26 สมาคมเยาวชนจิตอาสาพัฒนา สำหรับเส้นทางเดินริ้วขบวนเริ่มจากบริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง ไปยังท้องสนามหลวง
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ภายในงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ มีการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งแต่วันที่ 11-15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ ได้แก่
1. นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ทศมินทรราชา 72 พรรษา มหาวชิราลงกรณ” เผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
2. จัดแสดงสวนแสงเฉลิมพระเกียรติ “มหาทศมินทรราชา”การแสดงศิลปวัฒนธรรมและการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติ แบ่งเป็น 2 เวที
คือ เวทีกลาง จัดแสดงวันที่ 11-15 กรกฎาคม 2567 เวลา 18.30-22.00 น. วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 การแสดงอากาศยานไร้คนขับ(โดรน)เฉลิมพระเกียรติ ชุด “รวมใจภักดิ์ ถวายพระพร” การแสดง “มหาดุริยางค์ไทยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” และการแสดง“โนราศิลปินแดนทักษิณเฉลิมพระเกียรติ”
– วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 การแสดงดนตรี “นาฏะ ดนตรี คีตา” การแสดงโขน “สมเด็จพระรามาครองเมือง” การแสดงพื้นบ้าน “เรืองรองสุขเกษมทั่วถิ่นไทย”
– วันที่ 13 กรกฎาคม 2567 การแสดงดนตรี “เทิดไท้องค์ราชัน พระมิ่งขวัญ ปวงชนชาวไทย” การแสดงละครนอก ตอน ถวายลูกแก้วหน้าม้า
การแสดง “มหานาฏกรรมรามายณะนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ” โดยไทยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน 7 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์
– วันที่ 14 กรกฎาคม 2567 การแสดงดนตรี “มหาดุริยางค์ 4 เหล่าทัพ” เป็นการแสดงร่วมกันของกองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การแสดงดนตรี “สดับคีตศิลป์ทศชาติชาดก” (10 พระชาติชาดก เฉลิมพระเกียรติ) และการแสดงละครเพลง “เทิดไท้ทศมินทรราชา”
– วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 การแสดง “สิงโตบนเสาดอกเหมยเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาวชิราลงกรณ” การแสดง “มังกรเบิกฟ้า 72 พรรษามหามงคล ใต้ร่มบรมโพธิสมภาร”
บริเวณหน้าเต็นท์นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ การแสดงดนตรี”แผ่นดินธรรมแผ่นดินไทยใต้ร่มพระบารมี” เป็นการแสดงร่วมกันของ 5 สถาบันการศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยรังสิต การแสดงนาฏศิลป์โขนสดใต้ร่มพระบารมี ตอน ศึกทศกัณฐ์ยกรบ และตอน ยักษ์บรรลัยกัลป์ออกศึก การแสดง “ศิลปะร่วมสมัยเทิดไท้องค์ราชัน” และการแสดงอากาศยานไร้คนขับ(โดรน)เฉลิมพระเกียรติ ชุด “รวมใจภักดิ์ ถวายพระพร”
นอกจากนี้ นางสาวสุดาวรรณ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันในส่วนเวทีย่อย จัดแสดงวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2567 เวลา 16.30-18.30 น. มีการแสดงพื้นบ้าน การแสดงของสมาคมศิลปินพื้นบ้าน การแสดงรำวงพื้นบ้าน การแสดงของเด็กและเยาวชนและการแสดงจากศิลปินที่มีชื่อเสียง และทุกวัน ตั้งแต่เวลา 15.00-18.00 น. มีการแสดงว่าวเฉลิมพระเกียรติ เช่น ว่าจุฬา ว่าวสาย ว่าวสามเหลี่ยม รวมกว่า 100 ตัว
โดยนายปริญญา สุขชิต หรือ “ซุปเปอร์เป็ด” ที่เป็นผู้สืบสานและนักเล่นว่าวไทยระดับชาติ อีกทั้งภายในงานมีตลาดวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ จำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ของดีสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร อาหารไทย อาหารถิ่น และผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายวัฒนธรรมอื่นๆ การสาธิตอาหารในรูปแบบตลาดย้อนยุค เช่น อาหารไทยโบราณ อาหารชาววัง อาหารพื้นถิ่น และสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เช่น นวดไทย ลงรักปิดทอง ทำว่าวไทย กรองดอกไม้ แกะสลักผักผลไม้ เป็นต้น ทั้งนี้ ชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้าร่วมชมงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้จัดรถให้บริการรับ-ส่งประชาชนฟรี ระหว่างวันที่ 11-15 กรกฎาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 12.00-22.00 น.
โดยจัดรถโดยสารธรรมดาให้บริการ 5 เส้นทาง ได้แก่ อนุสาวรีย์ชัย-สนามหลวง วงเวียนใหญ่-สนามหลวง สายใต้ใหม่-สนามหลวง หมอชิต-สนามหลวง และสนามหลวง -ท่าเตียน-ท่าช้าง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765