วันที่ 15 กันยายน 2564 นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมศูนย์ปฏิบัติการณ์ ที่ห้องคำชะโนด ชั้น 2 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี กับ ด้วย พล.ต.ต.พิษณุ อุณหเสรี ผบก.ภ.จ.อุดรธานี , นายอุเทน หาแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุข (สสจ.)อุดรธานี, ปภ. , ชลประทาน , หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมี 20 อำเภอ ร่วมประชุมทางไกลด้วย เพื่อติดตามผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 กลุ่มเสี่ยง 608 ที่มีเป้าหมายในสัปดาห์นี้ 50% และภายในสิ้นเดือนนี้ 70% ซึ่งในภาพรวมฉีดไป 40% ส่วนหนึ่งรอวัคซีนโมเดอนา ของ อบจ.อุดรธานี
โดยการฉีดวัคซีนของอุดรธานี เป็นวัคซีนไขว้หลัก ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา , แอสตราเซเนกา-แอสตราเวเนกา , แอสตราเซเนกา-ไฟเซอร์ และชิโนฟาร์ม-ชิโนฟาร์ม ด้วยการให้บริการฉีดวัคซีนที่ศูนย์จังหวัด , อำเภอ และเชิงรุกลงไปฉีดที่ตำบล และที่บ้านผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งมีอำเภอฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 เกินกว่า 50 % รวม 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอประจักษ์ศิลปาปาคม , พิบูลย์รักษ์ , หนองแสง , สร้างคอม และเมือง ทั้ง 5 อำเภอจะได้รับรางวัลอำเภอละ 30,000 บาท และขอให้ทุกพื้นที่ฉีดวัคซีนเชิงรุกให้ได้ 70 %
ขณะที่ศาลาพิธีทุ่งศรีเมือง หน้าศาลากลาง จ.อุดรธานี เทศบาลนครอุดรธานี จัดหน่วยสอบสวนควบคุมโรค มาคัดกรองผู้ต้องการตรวจหาเชื้อ “โควิด-19” บางคนไปใกล้ชิดกับผู้ป่วยก่อนเข้ารักษา บางคนไปสัมผัสกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และบางคนเข้าไปในพื้นที่ระบาด ที่กำลังเกิดคลัสเตอร์ตลาดไทยอิสาน ที่ตรวจพบเชื้อมาตั้งแต่ 1 ก.ย.64 ที่ผ่านมา ผ่านมาแล้วกว่า 15 วัน ยังพบผู้ติดเชื้อที่เป็นพ่อค้า-แม่ค้า-ลูกจ้าง ติดเชื้อเพิ่มอยู่ โดยยังมีพ่อค้าแม่ค้านำสินค้ามาขาย ทั้งที่มีคำสั่งให้ปิดตลาดชั่วคราว
ต่อมาเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน นายอุเทน หาแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุข (สสจ.)อุดรธานี แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่อุดรธานียังวางใจไม่ได้ จากที่พบระบาดเป็นกลุ่มก้อน ขึ้นลงวันละ 100 ราย สองวันที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 221 ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 145 ราย ติดเชื้อในจังหวัด 156 ราย ผู้ติดเชื้อจากต่างจังหวัดลดลง ผู้ติดเชื้อสะสม 11,063 ราย หายสะสม 9,482 ราย รักษาตัวอยู่ 1,494 ราย เสียชีวิตสะสม 87 ราย ขณะเรือนจำกลางอุดรธานี มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 239 ราย สะสม 3,473 ราย รักษาหาย 283 ราย รักษาที่ รพ.อุดรฯ 5 ราย และ รพ.สนามเรือนจำ 3,184 ราย เสียชีวิตสะสม 1 ราย
“ตลาดไทยอิสาณยังมีปัญหา พบพ่อค้า-แม่ค้า-ลูกจ้างติดเชื้อในตลาดอีก 25 ราย (รวมชาวตลาด 146 ราย) และโยงไปติดภายนอก อาทิ ตลาด 5 แห่ง , รถพุ่มพวง , ร้านขายไข่ , ร้านขายอาหาร (ตามสั่ง-ก๋วยเตี๋ยว-ส้มตำ) , รถเข็นขายอาหาร (ก๋วยเตี๋ยว-ส้มตำ) , ห้องเย็น และร้านขายของชำ รวมทั้งหมด 192 ราย ไม่รวมที่ระบาดในชุมชนโพธิวราราม 9 ครอบครัว 12 ราย ที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน กินข้าวร่วมกัน และรวมกลุ่มคุยกัน-ดื่มเหล้า ขณะที่มีการระบาดจากวิถีชีวิตอีกกลุ่ม เป็นการไปเยี่ยมคนป่วยที่บ้านใน อ.บ้านผือ ติดเชื้อไป 20 ราย ”
รอง สสจ.อุดรธานี กล่าวต่อว่า ตลาดไทยอิสาณสั่งปิดถึง 19 ก.ย.นี้ มีแนวโน้มอาจปิดต่อ หากเปิดจะเป็นแบบทยอย ใครรักษาและกักตัวครบก็มาขาย ยังไม่ครบต้องรอก่อน ขณะที่มีการฝ่าฝืนคำสั่งปิดตลาด ก็มีส่วนจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ล่าสุดมีการประชุมผู้รับผิดชอบตลาดใน ทน.อุดรธานี และ อปท.โดยรอบ วางกรอบให้ตลาดสด ตลาดนัดทุกแห่ง มีระดับมาตรฐาน 17 ข้อ ส่วนตลาดไทอิสาณมีแนวทางเพิ่ม คือ 1.ทำทะเบียนแผง-ผู้ค้า-ลูกจ้าง , 2.ก่อนเปิดตลาดตรวจหาเชื้อ 100 % , 3. ทำบัตรแสดงการตรวจ และ 4. ควบคุมด้วยหลักการ Covid Free Setting คือ ความสะอาดสุขา-ขยะ-ที่ล้างมือ , คัดกรองผู้ค้าปลอดเชื้อ และคัดกรองลูกค้าปลอดเชื้อ
พญ.สุรีรัตน์ วัชรสุวรรณเสรี อายุรแพทย์ โรคติดเชื้อ รพ.ศูนย์อุดรธานี กล่าวว่า รพ.ศูนย์อุดรธานี มีผู้ป่วย 188 ราย ใส่ท่อช่วยหมายใจ 5 ราย และใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันสูง 22 ราย ส่วน รพ.สนามศูนย์มรกต 282 ราย สำหรับผู้เสียชีวิต 2 ราย สะสม 87 ราย รายแรก เพศหญิง อายุ 74 ปี ไม่เคยได้รับวัคซีน ป่วยเป็นโรคเบาหวาน-ความดัน ติดเชื้อจากหลานสะใภ้ เข้ารักษาตัว 12 ส.ค.64 เสียชีวิต 13 ส.ค.64 รวมระยะเวลารักษา 32 วัน รายที่สอง เพศหญิง อายุ 76 ปี ไม่เคยได้รับวัคซีน ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ติดเชื้อจากคนใกล้ชิด เข้ารับการรักษา 25 ส.ค.64 เสียชีวิต 14 ก.ย.64 รวมระยะเวลารักษา 20 วัน.
ภาพ/ข่าว กฤษดา จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.อุดรธานี