Top news รายงาน วันที่ 6 ก.ค.2567 พลเรือเอกชลธิศ นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดหาเรือดำน้ำ เปิดเผยสำนักข่าวท็อปนิวส์ ชี้แจงถึงความคืบหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีนของกองทัพเรือว่า ได้ลงนามโครงการเมื่อปี 2560 ข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน การจ่ายเงินมีทั้งหมด 18 งวด ได้จ่ายไปแล้ว 10 งวด หรือคิดเป็น 60% เป็นจำนวนเงิน 7,700 ล้านบาท และยังคงค้างจ่าย 40% หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 5,500 ล้านบาท ซึ่งยืนยันว่าเรือดำน้ำมีความจำเป็น เพื่อรักษาอธิปไตยทางทะเล และปกป้องทรัพยากรทางทะเลมูลค่า 24 ล้านล้านบาท รวมถึงเส้นทางคมนาคมทางทะเล
ส่วนความเป็นห่วงเรื่องสัญญาที่จะเสียเปรียบ โดยเฉพาะเรื่องเครื่องยนต์นั้น ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า กองทัพเรือทำสัญญาตั้งแต่ปี 2560 พอปี พอปี 2564 ทางจีนก็ส่งหนังสือแจ้งมาว่าจีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบ MTU 396 มาติดตั้งในเรือดำน้ำตามสัญญาที่ทำไว้กับฝ่ายไทยได้ ซึ่งในการเซ็นสัญญากับจีน ระบุแค่เพียงรหัสเครื่องยนต์แต่ไม่ได้บอกว่าเครื่องยนต์ต้องซื้อจากเยอรมนี เราต้องการแค่เครื่องยนต์รหัสนี้ แต่ปี 2563 อียูปรับปรุงนโยบาย และแซงชั่นจีนเพิ่มมากขึ้น กระทั่งในปี 2564 จีนมาแจ้งไทยว่าเกิดปัญหาใช้เครื่องเยอรมันไม่ได้ จีนจะใช้เครื่อง CHD 620 แทน ซึ่งเราพยายามแก้ปัญหามาตั้งแต่ ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน
ส่วนคำถามคือจีนรู้ก่อนหรือไม่ก่อนที่จะมาขายให้ไทย หรือเขาหลอกเราหรือเปล่า หรือเราเต็มใจให้หลอก พลเรือเอกชลธิศ ชี้แจงว่า จีนก็ไม่ได้รู้มาก่อนเหมือนกัน และเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกองทัพเรือพยายามแก้ไขปัญหา เราก็บอกว่าเรากับเยอรมนีมีความสัมพันธ์ที่ดี เราก็ไปซื้อจากเยอรมนีและจ้างจีนติด แต่เยอรมนีไม่ยอม รัฐบาลก็พยายามคุยกับทางเยอรมนี แต่เยอรมันมีนโยบายแซงชั่นกีดกันการขยายความสามารถของจีน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะไทย แต่ปากีสถานก็โดนเช่นกัน ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2564-65-66 กองทัพเรือพยายามไปศึกษา ไปตรวจสอบไปดู และสุดท้ายถึงขั้นส่งทีมงาน 23 คน ไปร่วมทดสอบเครื่อง 28 วันที่เมืองจีน ไปดูว่าเครื่องที่จีนเสนอมามันใช้ได้หรือไม่ มันได้มาตรฐานหรือไม่ มันมีคุณภาพหรือคุณสมบัติเท่ากับเครื่องที่เขาเคยเสนอมาหรือไม่ ดีกว่าหรือเท่าเทียมกันไหม