“ราชดำเนินเสวนา” ส่อง “สว.ใหม่” ความหวังหรือวิกฤตครั้งใหม่ หนุน “กกต.” ประกาศรับรองผลก่อนแล้วสอยทีหลัง – Top News รายงาน
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 ที่อาคารบางซื่อจังชั่น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “ส่อง สว.ใหม่ ความหวังหรือวิกฤตครั้งใหม่” โดยมีวิทยากร ได้แก่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส ว่าที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และนายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล ว่าที่ ส.ว.
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า การรับรองผล ส.ว. เป็นเรื่องที่ไม่มีกรอบเวลา เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) การได้มาซึ่ง ส.ว. ไม่ได้ระบุไว้ นอกจากบอกว่าห้ามประกาศก่อน 5 วัน ทำให้ กกต.ไม่มีการสื่อสารกับประชาชน ท่ามกลางกระแสการฮั้วและโมฆะ จนเกิดความคลุมเครือ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นผลจากระบบที่ซับซ้อนที่สุดในโลก ซึ่งตนขอเสนอไปยัง กกต. ว่าควรสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจน ว่าจะใช้กรอบเวลากี่วันในการรับรองผล และเห็นด้วยว่า กกต.ควรจะประกาศรับรองผลก่อน และไปสอยทีหลัง
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า แนวทางที่หวังจะได้ ส.ว.จากตัวแทนกลุ่มอาชีพ แค่เริ่มก็ผิดแล้ว เพราะแต่ละคนอาจมีอาชีพมากกว่าหนึ่ง บางคนไปสมัครในอาชีพที่ไม่ได้เลี้ยงชีพ บวกกับระบบการเลือกกันเองแบบไขว้ สุดท้ายใครจัดตั้งได้มากสุดก็ได้เปรียบ ซึ่งตนยืนยันว่ามีแน่นอน โดยดูไดเจากค่าเฉลยจากจำนวน ส.ว.ทั้งหมด แต่ละจังหวัดควรจะมี ส.ว.อย่างน้อย 2 คน แต่บางจังหวัดมี ส.ว.มากเกินไป มี 13 จังหวัดที่ไม่มี ส.ว.เลย จึงแปลว่าการเลือก ส.ว.ล้มเหลว เพราะระบบไม่สะท้อนความเป็นผู้แทนได้อย่างแท้จริง
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ส่วนสาเหตุที่เครือข่ายบ้านใหญ่ มาลง ส.ว.กันมาก เพราะ ส.ว.ชุดนี้ไม่ได้มีอำนาจแค่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติเหมือนที่ผ่านมา แต่ให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระด้วย ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ กกต. คณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีส่วนได้เสียกับการเมืองในสภา และรัฐบาล รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า ในส่วนมุมมองการเมือง เป็นที่ชัดเจนว่าพรรคสีแดง ที่หวัง จะมีเครือข่ายในวุฒิสภา ดูจะไม่บรรลุเป้า คนที่บรรลุเป้ากลายเป็นพรรคอันดับ 3 แปลว่าพรรคร่วมรัฐบาล มีอำนาจต่อรองกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มากขึ้น