ทุเรียนจีนปลูกเองยังแข่งยาก

โปรย-สเตรทส์ ไทมส์ สื่อสิงคโปร์ มีรายงานน่าสนใจ เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของทุเรียนที่ปลูกในจีน ผ่านการพูดคุยกับเกษตรกรผู้ปลูก และนักวิชาการที่ชี้ว่า มีหลายเหตุผลที่ทำให้ทุเรียนปลูกเอง ยังไม่สามารถแข่งขันกับทุเรียนจากอาเซียนได้

 

ข้อมูลจาก สื่อสิงคโปร์  ระบุว่า ปี 2567 เป็นปีที่สองที่ทุเรียนปลูกในจีนออกสู่ตลาด ทั้งพันธุ์หมอนทอง และ มูซังคิง แต่ยังมีชาวจีนไม่มากนักที่จะได้ลองลิ้มชิมรส เพราะผลผลิตยังน้อยอยู่ และราคาสูง

 

จีนปลูกทุเรียนต้นแรกในปี 2501 แต่แทบไม่เคยออกดอกออกผล จนเมื่อปี 2561 นี้เอง ที่เริ่มมีการทำสวนเชิงพาณิชย์ ส่วนใหญ่ปลูกที่มณฑลไห่หนาน หรือไหหลำ ซึ่งมีสภาพอากาศเขตร้อน และยังมี ปลูกกระจัดกระจายใน กว่างซี กวางตุ้งทางใต้ของจีน และยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงเหนือ

 

เฟิง ซื่อเจี่ย ผู้อำนวยการสถาบันไม้ผลเขตร้อน วิทยาลัยวิทยาศาสตร์เกษตรกรรมไห่หนานบอกว่า จีนเพิ่งได้ผลผลิตทุเรียนล็อตใหญ่ครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว จำนวน 50 ตัน ส่วนในปี 2567 คาดว่าผลผลิตจะแตะ 200 ตัน ซึ่งยังน้อยมาก เป็นเพราะต้นทุเรียนยังมีอายุไม่กี่ปี ต้องใช้เวลาอีก 6-7 ปี ถึงจะเริ่มเห็นผลผลิตเป็นกอบเป็นกำ

 

สื่อสิงคโปร์ พูดคุยกับ จาง หมิงหมิง เกษตรกรรุ่นใหม่ วัย 35 ที่ทำสวนทุเรียนอยู่ที่เขตเป่าถิง มณฑลไห่หนาน แหล่งผลไม้เขตร้อนของจีน จางกำลังจะตัดทุเรียนพันธุ์ก้านยาว ราว 1 พันลูกในไม่ช้า ทุเรียนก้านยาวที่นั่น ตกกิโลละ 200 หยวน หรือประมาณ 1 พันบาท หากทุกอย่างเป็นไปตามที่คาด จางคาดว่าเมื่อจบหน้าทุเรียนปลายเดือนกันยายน เขาจะโกยรายได้ประมาณ 7 แสนหยวน หรือราว 3 ล้าน 5 แสนบาท นี่แค่เริ่มต้น จางจะรวยกว่านี้เมื่อทุเรียนมูซังคิง และ หนามดำ เริ่มให้ลูกในปีหน้าหรือสองปีข้างหน้า พันธุ์เหล่านี้เป็นพรีเมียม ที่ให้ราคาดีกว่า บางลูกอาจขายได้แตะ 2 พันหยวน หรือราวหมื่นบาท

 

อุปสรรคหนึ่งสำหรับการปลูกทุเรียนที่มณฑลไห่หนาน คือความเสี่ยงจากพายุ จาง บอกว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม เขามีทุเรียนกำลังโตกว่า 3 พันต้น แต่หลังจากฝนตกหนักหลายระลอก ตอนนี้เหลืออยู่แค่ 1 พันต้น

 

รสชาติเป็นอีกอย่างที่ต้องปรับปรุง เฟิง ผู้เชี่ยวชาญผลไม้เขตร้อน บอกว่า รสชาติทุเรียนไห่หนานยังไม่นิ่ง เช่นเดียวกับ คนปลูกเองอย่าง จาง ที่บอกว่า รสชาติยังมีความแตกต่างหลากหลาย ทุเรียนรสชาติดีนั้น มีอยู่ แต่ยังน้อย ส่วนใหญ่ยังไม่ดี เขาบอกว่า ตอนที่ทุเรียนของเขาให้ลูกครั้งแรก เมื่อปี 2565 ทุเรียนไม่มีรสชาติเลย ต้องหันมาปรับสูตรปุ๋ย จนรสชาติเริ่มดีขึ้นในปีถัดมา ทุเรียนที่ปลูกในจีน ยังอยู่ในขั้นที่เรียกว่าลองผิดลองถูก ต้องศึกษาเทคนิกและทดลองทำ ส่วนตัวเขา เรียนรู้จากเพื่อนที่ทำสวนทุเรียนในมาเลเซีย โดยปรึกษาหารือผ่าน วีแชต

 

ส่วนการเข้าถึงผู้บริโภค … ทุเรียนไห่นาน ในปี 2567 ถึงขณะนี้ มีสัดส่วนแค่ 0.014% ของทุเรียนนำเข้าในปี 2566 ราคาก็เลยยังสูงอยู่ สื่อท้องถิ่นรายงานว่า บางแห่งขายกิโลฯละ 120-140 หยวน ( 600-700 บาท) ผู้สื่อข่าวของสเตรทส์ไทมส์ที่ไปสำรวจตลาดค้าส่ง ซินฟาตี้ในกรุงปักกิ่ง เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา พบร้านขายผลไม้จากไห่หนาน แต่ไม่มีทุเรียนจากไห่หนาน พนักงานร้านบอกว่า แพงเกินไป ขายไม่ออก ทุเรียนไห่หนาน ครึ่งกิโล 60 หยวน ทุเรียนจากไทย ครึ่งกิโล 20-30 หยวน ขณะที่สาวกทุเรียนคนหนึ่งที่ไปซื้อทุเรียนในตลาดแห่งนี้ทุกสัปดาห์ บอกว่า ภูมิใจที่จีนปลูกทุเรียนเองได้แล้ว แต่คาดหวังว่า ราคาจะแข่งขันได้ คือถูกกว่านำเข้าในอนาคต เชื่อว่าเมื่อคนจีนปลูกอะไรเองได้แล้ว จะทำให้ราคาถูกลงได้

 

ขณะที่เฟิง นักวิชาการผลไม้เขตร้อน คาดว่าราคาทุเรียนไห่หนานจะถูกลงในสองถึงสามปีข้างหน้า เมื่อมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น กระนั้น ทุเรียนเป็นผลไม้ขึ้นชื่อเรื่องปลูกยากและจุกจิก ต้องเป็นดินและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ในจีนนั้น มีไม่กี่พื้นที่ที่ปลูกทุเรียนได้ เราจึงมีข้อจำกัดเรื่องที่ดิน กระทั่งไห่หนานเอง ทุเรียนปลูกได้เฉพาะทางใต้ของเกาะเท่านั้น ด้วยเหตุผลนี้ บวกกับความต้องการของบริโภคที่ยังแรงไม่ตก จึงหมายความว่า ผลผลิตในประเทศ ไม่น่าจะกระทบยอดขายทุเรียนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในจีน ทุเรียนในประเทศ ทำหน้าที่เป็นส่วนเสริมของทุเรียนนำเข้าเท่านั้น นักวิชาการท่านนี้บอกว่า เรายังไม่สามารถแข่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ในแง่ปริมาณ ต้นทุนแรงงานและที่ดินในจีนก็สูงกว่า ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องมุ่งผลิตทุเรียนคุณภาพสูงและเน้นตลาดบน

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เช็กด่วน อย.เร่งเรียกคืน ยาด็อกซีไซคลิน 7 รุ่นการผลิต ผิดมาตรฐาน
"รมว.ยธ." แจงขั้นตอนย้าย “โกทร” มาเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
โครงหลังคาโกดังสูง 10 เมตรถล่ม คนงานร่วง-เหล็กทับร่างซ้ำ เจ็บสาหัสเพียบ
"ไทยสมายล์บัส" ตั้งเป้าปี 68 พัฒนาระบบเทคโนโลยี ดันเป้าผู้โดยสารโตต่อเนื่อง จ่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
"หน.กู้ภัย" มือโพสต์แจกรองเท้าฟรี เข้าพบตร. เผยยอมเยียวยาคุณป้าเจ้าของ หากตนผิดจริง
อบจ.ฉะเชิงเทรา เปิดโครงการแข่งขันกีฬาสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัดฉะเชิงเทรา "อปท.ฉะเชิงเทราเกมส์" ครั้งที่ 3
เจ้าอาวาสหนีโรครุมเล้าผูกคอมรณภาพ
ลุงวัย 61 ปี ปลิดชีพหน้าเทศบาล หลังลูกหนี้เบี้ยวไม่จ่าย สุดขนลุก มีคนเห็นวิญญาณนั่งร้องไห้ใต้ต้นไม้
"ตร.ปราจีนบุรี" โอนสำนวนคดี "สจ.โต้ง" ให้กองปราบฯแล้ว
ทหารเข้มชายแดนแม่สอด หลังเมียวดีระส่ำ "อหิวาตกโรค" ระบาดหนัก เสียชีวิตแล้ว 2 ราย รักษาตัวที่รพ.กว่า 300 คน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น