Top news รายงาน วันที่ 10 ก.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า ที่ประชุม กกต.มีมติรับรองผลการเลือก สว. 2567 ว่า เงื่อนไขตามกฎหมายตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. หาก กกต.เห็นว่า การเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง หรือความชอบ ความควรตามกฎหมาย สุจริต ก็คือการกระทำที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เที่ยงธรรม ก็คือการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย 3 เงื่อนไขนี้ กกต.จึงจะประกาศผลการเลือกได้ สิ่งที่จะพิจารณาเป็นไปตามเงื่อนไขคือ มีการกระทำผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. หรือไม่ ซึ่งสำนักงาน กกต.เป็นหน่วยงานธุรการของ กกต. จึงรวบรวมกลุ่มความผิดที่อาจทำให้การพิจารณาที่มาใช้เป็นเงื่อนไขการประกาศผล สว.ครั้งนี้ แบ่งเป็น กลุ่มแรกคือ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม หมายถึงการสมัครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กลุ่มสอง กระบวนการเลือกคือกระบวนการเลือกตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ กลุ่มสาม ความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ที่สังคมใช้คำว่า จัดตั้ง บล็อกโหวต หรือฮั้ว นี่คือ 3 กลุ่มความผิดที่สำนักงาน กกต.ได้จัดกลุ่ม
นายแสวง กล่าวว่า กรณีผู้สมัครรับเลือก สว. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ข้อมูลพื้นฐานที่จะพิจารณาเรื่องนี้ มีผู้สมัครสนใจมาสมัครช่วงเปิดสมัคร 5 วัน 48,117 คน ผอ.ระดับอำเภอ ไม่รับสมัครจำนวน 1,917 คน นั่นหมายความว่าได้ตรวจสอบเบื้องต้น และเมื่อ ผอ.รับสมัครไปแล้ว ท่านได้ลบชื่อก่อนมีการเลือกระดับอำเภอ 526 คน ต่อมาในชั้นจังหวัด ผอ.จังหวัด ได้ลบผู้มีสิทธิเลือกไปอีก 87 คน ต่อมาระดับประเทศ ผอ.ระดับประเทศ ได้ลบอีก 5 คน ที่บอกว่า กกต.ไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม จึงอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง สรุปแล้วเราได้ตรวจสอบ และคัดคนที่ไม่มีคุณสมบัติออกไปเกือบ 3 พันคน
นายแสวง กล่าวอีกว่า กกต.ได้มีมติให้ใบส้ม คุณสมบัติตามมาตรา 20 วรรคสาม วรรคสี่ คือระงับสิทธิสมัครชั่วคราว จำนวน 89 ใบ เฉพาะเรื่องคุณสมบัติตามมาตรา 20 วรรคสาม วรรคสี่ รวมทั้งส่งให้ศาลฎีกาพิจารณาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และอีก 1 คน ที่พิจารณาคือ ตามมาตรา 60 เพราะหลังกระบวนการเลือกแล้ว ที่ให้เพราะว่าผู้มีสิทธิเลือกเหล่านี้ ทำให้การเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ในส่วนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งระดับอำเภอ ที่ลบชื่อไป 526 คน จะไม่มีคำสั่งให้ใบส้ม เพราะยังไม่เข้ามาในระบบ แต่ว่าทุกคนที่ถูกลบชื่อ จะถูกพิจารณาว่า รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิแล้วไปสมัครรับเลือกหรือไม่ ซึ่งเป็นคดีอาญา เป็นคนละส่วนกัน
เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า สำหรับเรื่องร้องเรียนที่เคยบอกว่ามี 65% นี่คือเรื่องเหล่านี้ อยู่ใน 65% ที่ร้องเรียนทั้งหมดด้วย เป็นกรณีความปรากฏ เราไปรวมเรื่องร้องเรียนด้วย โดยแบ่งเป็น ผู้สมัครมาร้องเอง ความปรากฏต่อเรา และเราลบชื่อ ทำให้เรื่องร้องเรียนที่เคยบอกครั้งแรกว่ามี 600 กว่าเรื่อง เป็นเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด และทุกวันนี้มีเรื่องร้องเรียนรวม 800 กว่าเรื่อง ทำให้ตอนนี้เหลือเรื่องร้องเรียนเหลือ 200 กว่าเรื่อง ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด มาระดับประเทศ
ในส่วนคุณสมบัติผู้สมัครและลักษณะต้องห้ามนั้น นายแสวง กล่าวว่า เราได้ตรวจสอบทุกคน ไม่ว่าจะเป็น 200 หรือตัวสำรอง 100 หรือผู้สมัครระดับอำเภอหรือจังหวัด อยากให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครในกลุ่มที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่า คนแบบนี้ไปอยู่กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องของสำนักงานฯ ระดับอำเภอ ได้ให้ซักซ้อมข้อกฎหมายแต่ต้นว่า สังคมอาจเข้าใจไม่ตรงมาก เพราะว่าเวลาพูดถึงคือกลุ่มอาชีพ แต่ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.เลือก สว. ไม่มีกลุ่มอาชีพ เป็นกลุ่มของด้าน 20 ด้าน ในด้านมีอาชีพเป็นส่วนหนึ่งของคนประเภทหนึ่งที่จะอยู่ในด้านนั้น ในแต่ละกลุ่มของด้าน มีคนแต่ละประเภทสมัครได้ ไม่ใช่อาชีพอย่างเดียว เช่น ความรู้ในด้านนั้น ความเชี่ยวชาญในด้านนั้น อาชีพในด้านนั้น ประสบการณ์ในด้านนั้น มีลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานร่วมกัน คน 6 ประเภทสามารถเข้าไปอยู่ในด้านต่าง ๆ ได้ อาชีพเป็นเพียงประเภทหนึ่งในกลุ่มนั้นเท่านั้น กฎหมายเปิดกว้างให้ประชาชนชาวไทยมีโอกาสที่จะสมัครรับเลือก สว.อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้อย่างกว้างขวาง โดยมีผู้รับรอง 1 คน ซึ่ง กกต.ตรวจสอบไปแล้ว
เลขาธิการ กกต.กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มความผิดเรื่องการดำเนินการในวันเลือก คือระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ มีสำนวนที่มาร้องที่เรา 3 สำนวน ได้พิจารณาจบแล้ว สำนวนไปร้องที่ศาลฎีกา 18 คดี เป็นไปตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.ป.เลือก สว. โดยศาลฎีกาได้ยกคำร้องทุกคดีแล้ว
ส่วนการร้องเรียนประเด็นเลือกโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมนั้น นายแสวง กล่าวว่า ตอนนี้มี 47 เรื่อง เช่น ที่สังคมเรียกว่าฮั้ว บล็อกโหวต จัดตั้ง ในส่วนนี้สำนักงาน กกต.ได้รวบรวมพยานหลักฐานมาพอสมควรแล้ว ลักษณะที่รวบรวมมามีเป็นขบวนการ ต้องใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาพิจารณา สำนักงาน กกต.ได้ขอความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) 10 คน และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 10 คน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 3 คน ทั้งหมดเป็นระดับผู้บังคับบัญชา ประสานงานกันมาตลอดสัปดาห์หนึ่งแล้ว เป็นความร่วมมือที่สำนักงาน กกต.ขอใช้เครื่องมือ เพื่อเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อหาคนอยู่เบื้องหลังว่าจะไปได้ถึงไหน อย่างไร เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าเกิดการกระทำให้การเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริต
“เมื่อดำเนินการมาถึงขั้นนี้จะเห็นว่า ถามว่าการเลือกถูกต้องหรือไม่ เราจะพิจารณาจากกระบวนการเลือกในวันเลือกคือวันที่ 9 วันที่ 16 และ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทุกคดีได้จบไปหมดแล้ว ผู้สมัครไปร้องศาลฎีกา 18 คดีก็จบไปแล้ว นั่นคือไม่มีคดีคั่งค้างที่ศาลฎีกาอีกแล้ว นั่นถือว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยชอบ” เลขาธิการ กกต.กล่าว
เลขาธิการ กกต.กล่าวด้วยว่า ในส่วนความไม่สุจริต คือความชอบตามกฎหมาย เมื่อมีคำร้องสำนักงาน กกต.ได้รับเป็นสำนวนไว้แล้ว ขณะนี้ได้รวบรวมพยานหลักฐานไว้ตามสมควร ข้อมูล ณ วันนี้ยังไม่พอเพียงที่จะบอกว่าเขากระทำความผิด สำนักงาน กกต.ต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นนี้ จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เพราะการนำหลักฐานไปยื่นกับศาลฎีกา กฎหมายบอกว่า ต้องมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริต สำนักงาน กกต.ต้องพิจารณารวบรวมพยานหลักฐานที่เรามีอยู่มาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อยุติ เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรม คือการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ฝ่ายผู้ร้อง หรือผู้ถูกร้อง เมื่อดำเนินการตามระเบียบสืบสวน หรือไต่สวน ต้องให้โอกาสเขาพิสูจน์ข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริง มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหา ให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย นี่คือความเที่ยงธรรมที่ทุกฝ่ายจะได้รับจาก กกต.
“ด้วยเหตุดังกล่าว ณ วันนี้ กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่า การเลือก สว.2567 เป็นไปด้วยความถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม จึงมีมติประกาศผลการเลือก สว. ของแต่ละกลุ่ม โดยทั้ง 20 กลุ่ม ลำดับที่ 1-10 ของแต่ละกลุ่มเป็น สว. ส่วนลำดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่ม เป็นบัญชีสำรอง ยกเว้นกลุ่มที่ 18 ซึ่ง กกต.ได้ระงับสิทธิชั่วคราวของผู้ได้รับเลือกเป็น สว. ที่อยู่ในลำดับที่ 1-10 จึงต้องเลื่อนลำดับที่ 11 ตามระเบียบของ กกต.ฉบับที่ 3 ขึ้นไปอยู่ในลำดับที่ 10 แทน” นายแสวง กล่าว
นายแสวง กล่าวด้วยว่า สรุปแล้วก็คือ กกต.มีมติเห็นชอบให้ประกาศผู้ได้รับคะแนนจำนวน 200 คน เพื่อให้เปิดสภาฯได้ ส่วนที่สำรองมี 99 คน เพราะกลุ่ม 18 เหลือสำรองอยู่ 4 คน โดยผู้ที่ได้รับประกาศทั้ง 200 คน ให้มารับหนังสือรับรองการได้รับเลือกเป็น สว. เพื่อเป็นหลักฐานในการรายงานตัวกับสำนักเลขาธิการวุฒิสภา 2 วัน ในวันที่ 11-12 ก.ค. 2567 เวลา 08.30-16.30 น.
นายแสวง กล่าวอีกว่า การประกาศไปก่อนแล้วมาสอยทีหลัง เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 226 และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว.มาตรา 62 ส่วนที่ได้ใบส้มไป 1 คน จนต้องเลื่อนสำรองมาแทน เพราะพบความผิดชัดเจนในเรื่องของคุณสมบัติต่อข้อถามว่าการที่กกต. ประกาศบัญชีสำรอง 99 คน จะขัดกับกฎหมายที่ให้กกต.ต้องประกาศบัญชีสว. 200 คน และบัญชีสำรอง 100 คน หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ก็ทำไปแล้ว ซึ่งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. มาตรา 42 ไม่ได้เขียนกรณีดังกล่าวไว้ แต่ กกต. มาออกระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือก สว. ฉบับที่ 3 ข้อ 154/1 ให้ กกต. สามารถเลื่อนบัญชีสำรองขึ้นมาแทนได้
ส่วนที่ถามว่า ก่อนหน้านี้ศาลปกครองเคยเพิกถอนบางข้อของระเบียบดังกล่าว กังวลหรือไม่ ว่าจะถูกเพิกถอนอีก นายแสวงกล่าวว่า ตอบไม่ได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงออกมาเช่นนี้ก็ต้องดำเนินการ และทำไปแล้ว หากไม่เลื่อนจะเป็นปัญหามากกว่านี้ เพราะจะเปิดสภาไม่ได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสะท้อนว่า กกต. ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อถามต่อว่า ทำไม่ไม่รับรองไปก่อนแล้วค่อยมาสอยทีหลัง จะได้ไม่เกิดปัญหา นายแสวง กล่าวว่า มีคำพิพากษาของศาลฎีกาวินิจฉัยวางแนวเอาไว้แล้ว เมื่อเราพบ ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ว่าจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร วันนี้จะส่งประกาศราชกิจจานุเบกษา
รายงานข่าวแจ้งว่า บุคคลที่ถูก กกต.ระงับสิทธิชั่วคราวหรือแจก “ใบส้ม” คือ น.ส.คอดียะฮ์ ทรงงาม ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.อ่างทอง ลำดับที่ 4 กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน โดยระบุในประวัติการทำงานว่า “ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน เป็นประชาสัมพันธ์อำเภอไชโย” อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบพบว่า น.ส.คอดียะฮ์ เป็นที่ปรึกษา นายก อบจ.อ่างทอง จึงถูกระงับสิทธิชั่วคราว ทำให้เลื่อนว่าที่ พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ลำดับที่ 11 ซึ่งอยู่ในบัญชีสำรองเลื่อนขึ้นมาอยู่ในบัญชีตัวจริงลำดับ 10 โดยว่าที่ พ.ต.กรพด อดีตประธานรุ่น 5 หลักสูตร “พัฒนาสัมพันธ์เครือข่ายความมั่นคงระดับผู้บริหาร” (พคบ.) ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มาแทน