“กระทรวงมหาดไทย” จับมือ “อว.” ลงนาม MOU แก้ปัญหา “น้ำท่วม-น้ำแล้ง”

"กระทรวงมหาดไทย" จับมือ "อว." ลงนาม MOU แก้ปัญหา "น้ำท่วม-น้ำแล้ง"

Top news รายงาน วันนี้ (11 ก.ค. 67) เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นางสาวศุภมาศ อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่” ระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงอุดมศึกษา และผู้บริหารทั้งสองกระทรวงร่วมเป็นสักขีพยานและเป็นเกียรติในงาน

 

ข่าวที่น่าสนใจ

นายอนุทิน กล่าวว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก สร้างความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร อันเป็นประเด็นปัญหาสำคัญของโลก ภาวะฝนแล้งและน้ำท่วมอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่มีแนวโน้มที่จะรุนแรงและมีความถี่มากขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญอย่างมากในการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้ผลอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยมียุทธศาสตร์และแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืน ซึ่งส่วนหนึ่งจะเชื่อมโยงกับการรับมือกับ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยความตระหนักว่า น้ำไม่เพียงแค่หล่อเลี้ยงการดำเนินชีวิตของมนุษย์แต่ยังเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของผู้คน ชุมชน ประเทศ และโลกเข้าด้วยกัน รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมรับมือ เพื่อลดผลกระทบรุนแรงของปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม ที่มีต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชน และสำหรับประชาชนในภาคการเกษตร รัฐบาลเน้นการสร้างรายได้โดยใช้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการใช้นวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ รวมถึงยกปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อม และทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพในปี 2567 นี้

นายอนุทิน กล่าวต่อไปอีกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเข้าถึงทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน และการบริหารจัดการน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างเป็นระบบตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี รวมถึงการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต โดยดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทาน เพิ่มพื้นที่ชลประทาน และการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน อีกทั้ง ยังมีการปรับปรุงลำน้ำสายหลักและลำน้ำธรรมชาติ เพื่อระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำและในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตลอดจนการปรับปรุงเขื่อนเพื่อรองรับสภาพภูมิอากาศ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ซึ่งกระทรวงมหาดไทยก็ได้ดำเนินนโยบาย ตามแนวทางดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

“ผมมีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปตรวจราชการในจังหวัดที่มีปัญหาน้ำหลายแห่งนั้น ก็มีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง จึงสั่งการให้บูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระทรวง และกับแต่ละจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือป้องกัน และแก้ไขปัญหา ตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ เพื่อประเมินแนวโน้มการเกิดภัยแล้งและน้ำท่วม ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำแต่ละพื้นที่ ตลอดจนเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดเห็นความสำคัญของการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ ให้กับประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ให้มีความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนเองมากยิ่งขึ้น” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยยังได้ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาเป็นเครื่องมือแก้จน และช่วยแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม โดยจะร่วมมือกับกระทรวง อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้ในการจัดการน้ำ อาทิ การเตือนภัยภายใต้การพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการวางแผนดำเนินการ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำแล้งและน้ำท่วม เน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อตรวจวัดและคาดการณ์สถานการณ์น้ำ และการพัฒนาระบบการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพในระดับพื้นที่ ผ่านคลินิกของกระทรวง อว. เพื่อพัฒนากลไกถ่ายทอดและพัฒนาบุคลากร กลุ่มผู้ใช้น้ำ และจัดทำแผนปฏิบัติการในระดับต่างๆ บนฐานของข้อมูล ความรู้และความเสี่ยง ที่เชื่อมโยงกับลุ่มน้ำ

 

นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า เราได้น้อมนำแนวพระราชดำริ “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และแนวพระราชดำริ “อารยเกษตร” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปรับใช้ในนโยบายการจัดการน้ำ เพื่อให้เกษตรกร มีความสามารถในการปรับตัว และใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่า ส่งเสริมการทำเกษตรยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำแผนดำเนินงานเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ โดยเน้นที่การสำรวจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขยายผลใช้ระบบเตือนภัย การเฝ้าระวังปัญหาการแย่งชิงน้ำในพื้นที่รวมถึงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำ เรียกได้ว่าทำอย่างเป็นองค์รวม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“อี้ แทนคุณ“ เปิดเส้นเงิน 3 ล้าน โยง “ฟิล์ม รัฐภูมิ” พร้อมเผยปมใหม่เอี่ยวหลอกขายเหรียญคริปโต
"กรวีร์" ส่งหนังสือเชิญ "ธนดล" พร้อมหน่วยงานเกี่ยวข้อง ชี้แจง กมธ.ปกครอง ปมที่ดิน สปก.เขาใหญ่
"ทรัมป์" บี้หนัก ฮุบ แหล่งแร่หายาก "ยูเครน" ขู่ปิดเน็ต Starlink
เอาจริง "ตร.ปอท." บุกจับ 2 แอดมินเพจ ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ยึดของกลาง เกือบ 2 พันชิ้น
“ภูมิธรรม" เดินหน้าปราบแก๊งคอลฯ ผนึกกำลังเพื่อนบ้าน ปิดช่องโหว่ อาชญากรข้ามชาติทุกช่องทาง
ย้อนเกล็ดแสบ "จีน" ส่งเรือรบติดขีปนาวุธ3ลำประชิดออสซี่ อ้างซ้อมรบใช้กระสุนจริง
ไม่รอดสายตา บุกทลายรังเขมร ดอดปลูกหมู่บ้านซุกปลายไร่ฝั่งไทย
"รัฐบาล" ย้ำดูแลปศุสัตว์ไทยต่อเนื่อง เร่งจ่าย "วัคซีนลัมปี สกิน" อีก 7.85 ล้านโดส
"รองปธ.วุฒิฯ" ไม่ทน สั่งฝ่ายกม.รวมหลักฐานผิดโดนกล่าวหา อั้งยี่ ซ่องโจร ยื่นถอดถอนรมต.

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น