วันนี้ ( 11 ก.ค.) นายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง ได้ชี้แจงกรณีที่มีกรรมการค่าจ้างชุดที่ 2 กับพวกรวม 5 คน จากฝ่ายสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค้าจ้าง หลังเห็นว่า รายงานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ไม่ชอบด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากในรายงานการประชุมได้มีมติให้ปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เป็น 400 บาท และเห็นว่า การพิจารณาปรับสูตรอัตราค่าจ้างดังกล่าวเป็นการพิจารณาที่ไม่ได้ปฏิบัติตาม มาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541
นายวีรสุข ระบุว่า ที่ออกมาให้ความเห็นครั้งนี้เป็นความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการค่าจ้าง โดยทางฝั่งลูกจ้างได้เสนอไปว่า ในการพิจารณา ของคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ให้มีการปรับสูตรการคำนวณ เพื่อให้สมดุลกับข้อเท็จจริง หากแต่ละจังหวัดจะพิจารณา ค่าจ้างขั้นต่ำไปติดเพดานที่ประชุมไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ตามความเหมาะสม จึงมีข้อเสนอให้ปลดล็อคให้เป็นแบบลอยตัว ไม่ต้องให้มีกำหนดเพดานที่ 1.5% เพื่อให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดพิจารณาค่าจ้างอย่างอิสระ
จากนั้นให้นำตัวเลขที่ได้เข้าสู่คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง ซึ่งถือเป็นการกรองชั้นที่ 2 ก่อนที่จะส่งมาที่บอร์ดค่าจ้างฯ เพื่อให้มีการกรองครั้งที่ 3 ซึ่งในกระบวนการต่างๆ นั้นก็จะมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามความเหมาะสม
ซึ่งจากประเด็นดังกล่าวทำให้มีการอภิปรายในที่ประชุม และมีข้อสรุปว่าจะต้องโหวต เพื่อปรับสูตรซึ่งในที่ประชุมมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ ฝ่ายนายจ้างไม่เห็นด้วยจึงไม่ได้โหวต กลายเป็นมติ 7 ต่อ 5 เสียง ซึ่งตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ได้กำหนดไว้ เมื่อสูตรมีปัญหาในการคิดคำนวณก็สามารถปรับได้ เป็นอำนาจของคณะกรรมการไตรภาคี ที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้
ทั้งนี้ เมื่อความเห็นที่ไม่ตรงกันในที่ประชุม มีการ ได้โหวตเสียงข้างมาก ก็น่าจะวินิจฉัยได้ว่าจะไปในทิศทางไหน ซึ่งตามกฎหมายระบุว่า การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรง เมื่อมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้มีการโหวต ซึ่งจะต้องมีผลโหวต 2 ใน 3 ถึงจะชนะ ส่วนกรณีการโหวตเพื่อการเปลี่ยนแปลงวิธีการคิดคำนวณสูตร กฎหมายไม่ได้ระบุไว้ว่าจะต้องเป็นมติ 2 ใน 3 การมีเสียงข้างมากในที่ประชุมก็ถือว่าใช้ได้