Top news รายงาน วันนี้ (12 ก.ค.) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา หมายเลขดำที่ อท 69/2563 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท 190/2563 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 และโจทก์ ร่วมเป็นโจทก์ฟ้อง นายบรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีต สส.นครสวรรค์ หลายสมัย กับพวกรวม 6 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น โดยไตร่ตรองไว้ก่อน หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ฯ
สืบเนื่องจากกรณีที่จำเลยกับพวกใช้กำลังประทุษร้ายเอาตัวผู้ตาย ซึ่งเป็นพี่ชายของผู้พิพากษาหญิงคนหนึ่งของศาลอาญากรุงเทพใต้ ไปกักขังหน่วงเหนี่ยว และใช้ความปลอดภัยในชีวิตของผู้ตายเป็นข้อต่อรองเรียกค่าไถ่ เพื่อข่มขืนใจผู้เสียหาย คือ ผู้พิพากษาหญิง ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่
โดยวันนี้ศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาถ่ายทอดภาพและเสียง ผ่านทางจอภาพระหว่างศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กับเรือนจำกลางบางขวาง และเรือนจำกลางคลองเปรม สถานที่คุมขัง นายบรรยิน กับพวก ซึ่งวันนี้ โจทก์ และโจทก์ร่วม รวมถึงทนายจำเลยที่ 4-6 ได้มาศาล ส่วนจำเลยที่ 1 คือ นายบรรยิน ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางบางขวาง ส่วนจำเลยที่ 3 -6 ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือ โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 รับในฎีกาว่า ไม่พอใจโจทก์ร่วมอย่างรุนแรง โดยเชื่อว่า โจทก์ร่วมไม่เป็นกลางในการพิจารณาคดีฉ้อโกงหุ้น นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างระดับประเทศ จึงทึกทัก คือ เหมาเอาเป็นจริงเป็นจังว่า ถูกโจทก์ร่วมกลั่นแกล้ง จำเลยที่ 1 จึงได้ตัดสินใจกระทำการแก้แค้นโจทก์ร่วม แต่เปลี่ยนใจไปลักพาตัวผู้ตายไปแทน แล้ววางแผนให้จำเลยที่ 2 – 3 สะกดรอยติดตามโจทก์ร่วม กับผู้ตาย จนทราบที่พัก โดยประสงค์จะลักพาตัวผู้ตายไป เพื่อต่อรองให้โจทก์ร่วมพิพากษาคดีดังกล่าวให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 เช่นนี้การที่จำเลยที่ 1 คิดวางแผน และไตร่ตรอง เพื่อลักพาตัวผู้ตายไปแล้ว จึงลงมือกระทำความผิดตามแผน โดยมิใช่กระทำไปโดยปัจจุบันทันด่วน บ่งชี้ว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้ตายอันเป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน ประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 289 (4)
ส่วนจำเลยที่ 4 – 6 ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 บอกจำเลยที่ 6 ให้ส่งจำเลยที่ 4 – 5 ลูกน้องของจำเลยที่ 6 ไปช่วยงานทวงหนี้ หลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 6 มอบเงินค่าตอบแทนการทำงานให้จำเลยที่ 4-5 คนละ 50,000 บาท และนำเสื้อผ้าที่จำเลยที่ 4-5 สวมใส่ในวันเกิดเหตุไปเผาทำลายหลักฐาน
พฤติการณ์เหล่านี้ของจำเลยทั้ง 6 คน ย่อมเป็นอันรู้กันในกลุ่มจำเลยทั้ง 6 เป็นอย่างดีว่า การไปทวงหนี้มีความหมายถึงการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายแก่บุคคลอื่น ตั้งแต่การบังกับข่มขู่ อุ้มหายไปจนถึงการฆ่าเผานั่งยาง เพื่อทำลายพยานหลักฐาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (13) บัญญัติว่า “ค่าไถ่” หมายความว่าทรัพย์สิน หรือประโยชน์ที่เรียกเอา หรือเพื่อให้แลกเปลี่ยนเสรีภาพของผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขัง ฉะนั้นค่าไถ่จึงมิได้หมายความแต่เพียงว่าต้องเป็นทรัพย์สิน หรือเป็นเงินที่เรียกเอาเพื่อแลกเปลี่ยนเสรีภาพของผู้ถูกเอาตัวไป แต่หมายความรวมถึงประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือเงินซึ่งผู้กระทำต้องการเรียกเอา เมื่อจำเลยที่ 1 ลักพาตัวผู้ตายไปเจรจาต่อรอง เพื่อให้โจทก์ร่วมพิพากษายกฟ้องและให้คืนเงินกับหุ้นของจำเลยที่ 1 ผลของคำพิพากษาที่ยกพ้อง และให้คืนเงินกับหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ถูกอายัดไว้ จึงถือว่าเป็นประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดที่จำเลยที่ 1 เรียกเอาจากโจทก์ร่วม เพื่อแลกตัวผู้ตาย และเป็นประโยชน์ซึ่งมีอยู่ในขณะกระทำการเรียกเอา โดยจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องได้ไปซึ่งประโยชน์ หรือแม้แต่โจทก์ร่วมจะไม่สามารถ หรือไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ประโยชน์นี้ได้ก็อยู่ในความหมายของคำว่า “ค่าไถ่” ตามกฎหมายดังว่าแล้ว
ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 4-6 รับรู้ความประสงค์ของจำเลยที่ 1 และที่ 6 มอบหมายให้จำเลยที่ 4-5 ไปช่วยกันลักพาผู้ตาย โดยใช้รถยนต์คันก่อเหตุ จำเลยที่ 4 – 6 ย่อมเล็งเห็นได้ว่า แม้จะสวมกุญแจมือผู้ตายไขว้หลัง ใช้เทปกาวปิดปาก ใช้ถุงดำคลุมศีรษะแล้วผู้ตายต้องดิ้นรนต่อสู้ขัดขืน เมื่อจำเลยที่ 3 ทำร้ายผู้ตายชกบริเวณท้อง ลิ้นปี่ และชายโครง ของผู้ตายหลายครั้ง หรือแม้เพียงครั้งเดียว จนผู้ตายนิ่งไป ซึ่งแสดงว่า จำเลยที่ 3 ชกผู้ตายบริเวณท้อง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญโดยแรง ขณะผู้ตายถูกจำเลยที่ 5 ใช้เทปกาวปิดปากและนำถุงผ้าคลุมศีรษะ ทำให้อยู่ในสภาพที่หายใจไม่สะดวก