จากกรณีที่ วานนี้ ( 15 ก.ย. ) พ.ต.ท. วชิรพงศ์ แก้วดวง รองผู้บังคับการหน่วยอารักขาและควบคุมฝูงชน หรือ รอง ผบก.อคฝ. ได้เดินทางไปชี้แจงต่อ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในวาระพิจารณาข้อเรียกร้อง ขอให้ปกป้องสิทธิและคุ้มครองประชาชน จากการกระทำความรุนแรงของเจ้าหน้าที่และขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่อันเข้าข่ายเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ
ต่อมา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ในฐานะ ประธานกรรมาธิการ กล่าวว่า คำชี้แจงของ พ.ต.ท.วชิรพงศ์ นั้น เป็นการปัดความรับผิดชอบ อีกทั้ง ยังผลักให้ผู้ใต้บังคับบัญชา กลายเป็นผู้ร้าย ทั้ง ๆ ที่ เจ้าหน้าที่ คฝ. ออกไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของต้นสังกัด ซึ่งหากการชี้แจงเป็นเช่นนี้ ทางกรรมาธิการต้องเชิญให้เจ้าหน้าที่ คฝ. ที่ปรากฏในคลิปที่มีการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนทั้ง 14 คลิป เพื่อเรียกตัวเข้ามาสอบถามเพิ่มเติมว่า การตัดสินใจต่อสถานการณ์ตรงหน้า เป็นการใช้ดุลพินิจส่วนตัว หรือ มีคำสั่งให้ใช้ความรุนแรง
ล่าสุด พลตำรวจโท ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ชี้แจงถึงกรณีที่ พ.ต.ท.วชิรพงศ์ แก้วดวง รอง ผบก.อคฝ. ชี้แจงในที่ประชุมคณะกรรมาธิการ การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ว่า หากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ปฏิบัติหน้าที่เข้าข่ายเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่คนนั้น ต้องรับผิดชอบเองไม่เกี่ยวกับต้นสังกัด ว่า อาจเป็นการเข้าใจผิดของสื่อมวลชนที่ไปทำข่าว หรือไม่ก็ ไม่ได้ยกมาทั้งบริบท เพียงแค่ยกมาแค่ประโยคเดียว ซึ่งทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าใจผิดนั้น
โดย ผบช.น. ชี้แจงในเรื่องดังกล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ที่บริเวณแยกดินแดง ปฏิบัติภายใต้กรอบของกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งหากการชุมนุมทำให้เกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ และประชาชนบริเวณใกล้เคียง ใช้อาวุธต่าง ๆ เผาทำลายทรัพย์สินของทางราชการและส่วนรวมนั้น เจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้าบังคับใช้กฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ใช้เพียงเครื่องมือที่ได้รับการอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต และมีขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว ซึ่งหากผู้ใดได้รับผลกระทบ หรือได้รับความเสียหายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง ก็สามารถใช้สิทธิ์ดำเนินการตามกฎหมายได้ เจ้าหน้าที่ก็พร้อมที่จะพิสูจน์ทราบข้อเท็จว่า การดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
สำหรับการปิดถนนเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าพื้นที่เสี่ยงที่มีการชุมนุมนั้น ทางเจ้าหน้าที่พยายามหลีกเลี่ยงการปิดการจราจร เนื่องจากประชาชนยังคงต้องใช้ถนนในบริเวณดังกล่าวสัญจรไปมา ถึงแม้จะเป็นห้วงเวลาเคอร์ฟิวส์ก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังคงมีการตั้งจุดตรวจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
คำชี้แจงของ พ.ต.ท.วชิรพงศ์ เป็นการปัดความรับผิดชอบ อีกทั้ง ยังผลักให้ผู้ใต้บังคับบัญชากลายเป็นผู้ร้าย ทั้งที่เจ้าหน้าที่ คฝ. ออกไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของต้นสังกัด ซึ่งหากการชี้แจงเป็นเช่นนี้ ทางกรรมาธิการต้องเชิญให้เจ้าหน้าที่ คฝ. ที่ปรากฏในคลิปที่มีการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนทั้ง 14 คลิป เพื่อเรียกตัวเข้ามาสอบถามเพิ่มเติมว่าการตัดสินใจต่อสถานการณ์ตรงหน้าเป็นการใช้ดุลพินิจส่วนตัวหรือมีคำสั่งให้ใช้ความรุนแรง
ส่วนกรณีที่สื่อมวลชนจำเป็นต้องปฏิบัติงานในพื้นที่การชุมนุม อาจส่งผลให้อยู่ในช่วงเคอร์ฟิวนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่า สื่อมวลชนที่มีบัตรอนุญาตทุกคนจะได้รับการผ่อนปรนแม้จะเป็นเคอร์ฟิวก็ตาม ด้านประธานกรรมาธิการจึงเสนอให้มีการผ่อนปรนต่อเจ้าที่พยาบาลอาสาทุกคนโดยใช้มาตรฐานเดียวกันกับสื่อมวลชนด้วย