Top news รายงาน วันที่ 17 ก.ค. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณร่ายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่สอง เป็นประธานการประชุม
โดยนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้อภิปราย ว่า ขอบคุณสมาชิกที่มีข้อเสนอแนะ ข้อจำกัดต่างๆ ทุกความเห็น ทุกมิติ ทุกมุมมองนั้น เหมือนเป็นเหรียญ 2 ด้านที่เราอาจจะมองไม่ตรงกัน และสิ่งที่ไม่ตรงกันนั้นประกอบด้วย
เหรียญชิ้นที่ 1 สิ่งที่ท่านมองว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว ตัวเลขของการลงทุนตัวเลขของอะไรต่างๆภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความแปรปรวนต่างๆ เหล่านี้บ่งบอกว่า ในฐานะที่เป็นรัฐบาลเรามีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเปรียบประเทศไทยง่ายๆเหมือนบ้านหลังหนึ่ง ปัจจุบันเราคงเห็นตรงกัน ว่า บ้านหลังนี้หลังคามันรั่ว หลังคามีรอยรั่ว เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ฝนตกลงมา ฝนตกเข้าบ้าน วิธีคิดของท่านคือปล่อยให้รอยรั่ว นั้นยังคงอยู่ไม่ต้องทำอะไร และน้ำลงเข้าบ้าน ต้องวักน้ำทิ้ง นั่นคือวิธีคิดที่ท่านนำเสนอ แต่วิธีคิดที่เรานำเสนอ เมื่อบ้านเรามันรั่ว เราอาจจะต้องมีการขาดดุลงบประมาณ จะต้องมีการกู้หนี้ยืมสินมาเพื่ออุดรอยรั่วนี้ เพื่อทำให้น้ำไม่เข้าบ้าน และใช้เวลาที่ตักน้ำออกจากบ้าน เอาไปทำงานอย่างอื่น นั่นคือวิธีคิดที่แตกต่างกัน
เหรียญชิ้นที่ 2 จึงเป็นมุมมองที่แตกต่างกันว่า การที่เราต้องกู้หนี้ยืมสินมาอุดรอยรั่ว หรือขาดดุลงบประมาณมาอุดรอยรั่วนั้น เราสามารถทำได้หรือไม่ในภาวะการคลังในปัจจุบัน เรียนว่า ประเด็นนี้ได้มีการสื่อสารไปแล้วหลายครั้ง จึงจะสื่อสารอีกครั้งเพื่อให้เกิดความชัดเจน ในมุมมองที่มองว่าเรากู้เต็มเพดาน เราขาดดุลงบประมาณเป็นประวัติศาสตร์ เราไม่เหลือพื้นที่การคลัง สำหรับเอาไว้ดูแลพี่น้องประชาชน แต่ในเหรียญอีกด้านหนึ่งที่เป็นข้อเท็จจริง ที่จะพาไปดูตัวเลขหนี้สาธารณะ ซึ่งหนี้สาธารณะของประเทศไทยนั้นปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 64% แต่ถ้าหากดูลงลึกไปในหนี้สาธารณะ ต้องไปดูคำนิยามของหนี้สาธารณะ ประเทศไทยใช้คำนิยามหนี้สาธารณะเข้มข้นกว่ามาตรฐานสากล เข้มข้นกว่ามาตรฐาน IMF นั่นหมายความว่านี่สาธารณะของประเทศไทยนั้น นับในสิ่งที่ IMF หรือสากลไม่นับ นั่นคือเรื่องรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน และเป็นภาระต่อรัฐบาล ถ้าหากเรานับเลขสาธารณะตรงคำนิยามของสากล หนี้สาธารณะของเราจะอยู่เพียงแค่ 58.4% เท่านั้น ถ้าหากมองหนี้สาธารณะที่เป็นภาระต่อรัฐบาล ที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณไปชดใช้ หนี้สาธารณะของประเทศไทยจะลดเหลือแค่ 54.3% เท่านั้น นั่นคือสิ่งที่เป็นภาระต่อรัฐบาลจริงๆ และถ้าเรามองตัวเลข 54.3% นี้เทียบกับต่างชาติ เทียบกับภาวะคลัง เทียบกับมาตรฐานสากล หนี้สาธารณะก้อนนี้ไม่ได้อยู่ในความกังวล อยู่ในระดับต่ำด้วยซ้ำ นั่นคือสิ่งที่ตนอยากจะเรียนว่าเราพูดถึงการขาดดุลงบประมาณเราพูดถึงการกู้ พูดถึงกู้เต็มเพดาน แต่เราไม่ยอมไปดูปลายทาง ว่าหนี้สาธารณะของเราที่เป็นจุดมุ่งหมายของเราเป็นปัญหาหรือไม่ ซึ่งคำตอบตนหนี้สาธารณะ ปัจจุบันของประเทศไทยนั้นไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด