“มายด์ ภัสราวลี” ขู่รัฐบาล ถ้าไม่คุยปมแก้ 112 พร้อมปลุกม็อบลงถน – Top News รายงาน
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ที่รัฐสภา เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน นำโดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ หรือ ทนายเมย์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 12 คน อาทิ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน, น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์, น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อสนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมประชาชนผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง โดยมี น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในโฆษกคณะ กมธ.เป็นผู้รับ
โดย น.ส.พูนสุข กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เคยมายื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชนต่อสภาฯ แล้ว และอยู่ระหว่างรอการพิจารณา ขณะที่ทางสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้ง กมธ.นิรโทษกรรมฯ แต่ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 6 เดือนแล้ว เดือนนี้เป็นเดือนสุดท้าย ที่ กมธ.นิรโทษกรรมฯ จะมีผลของการศึกษาพิจารณา ว่าจะมีแนวทางอย่างไร แต่เรามีข้อกังวลว่า เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง กมธ.นิรโทษกรรมฯ มีมติว่าจะไม่มีมติ ที่จะรวมเอาความผิดในคดีมาตรา 112 และมาตรา 110 แต่ให้เป็นความเห็นของ กมธ.นิรโทษกรรมฯ แต่ละคน
จากนั้น น.ส.ณัฎฐธิดา มีวังปลา ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ระบุถึงผลเสียของมาตรา 112 ต่อประชาชน และนิสิตนักศึกษา ว่า เป็นกฎหมายที่ห้ามหมิ่นประมาทแสดงความอาฆาตมากร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือองค์รัชทายาท ซึ่งมีข้อกังวล 5 ประเด็น ดังนี้ 1.การตีความกฎหมายมาตรา 112 มาถูกวิจารณ์ว่ากว้างขวางและครอบคลุมเกินไปส่งผลให้การแสดงออก ที่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทหรือกลับถูกดำเนินคดีไปด้วย 2.การใช้กฎหมายมาตรา 112 ในทางการเมือง ถูกวิจารณ์ว่าถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดปากฝ่ายตรงข้าม หรือผู้มีความเห็นต่างกับรัฐ 3.การบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 บ่อยครั้งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อมวลชน 4.ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสากล และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล 5.มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ว่าการใช้มาตรา 112 ขาดความโปร่งใสและเป็นธรรม