คดีพลิก!!! ไทยส่งออกปลาหมอคางดำ

กดติดตาม TOP NEWS

เรียกว่าคดีพลิกกันเลยทีเดียว เมื่อ อธิบดีกรมประมง บัญชา สุขแก้ว ยอมรับกับคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ ในการการประชุมเมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม 2567 ว่า “ตรวจสอบแล้วพบว่า มีการส่งออกปลาเมื่อปี 2556-2559 ไป 17 ประเทศ มีผู้ส่งออก 11 ราย มีปลาที่ส่งออกทั้งสิ้น 230,000 ตัว” เป็นการตอบคำถามสำคัญของสังคมอีกข้อหนึ่ง ถึงต้นตอของการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ นำไปสู่คำถามต่อมา … แล้วปลาพ่อแม่พันธุ์ สำหรับเพาะพันธุ์เพื่อการส่งออกมาจากไหน ทำไมไม่มีการขออนุญาตนำเข้า เหมือนกับบริษัทเอกชนกลายเป็นเป้า ทั้งที่นำเข้าถูกต้องตามกฎหมาย

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่สื่อฯนำเสนอในช่วงนี้ เกิดคำถามถึงขั้นตอนการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้า-ส่งออกสัตว์น้ำของภาครัฐว่ามีความเข้มแข็งและเข้มงวดมากพอไหม เพราะมีตัวเลขส่งออก แต่ไม่มีตัวเลขนำเข้า ราวกับว่าพ่อแม่พันธุ์ปลาหมอคางดำ ที่เพาะเลี้ยงเพื่อส่งออกเป็นปลาสวยงาม อยู่ๆก็วาร์ปเข้ามาในประเทศไทย แม้กรมประมงจะชี้แจงเหตุผลหนึ่งว่า พันธุ์ปลามาจากธรรมชาติ แต่ในหมู่ผู้เลี้ยงปลาเพื่อส่งออกต่างรู้ดีว่า ปลาสวยงามมีความต้องการลักษณะเฉพาะ ทั้งสีสัน ลวดลาย และความแข็งแรง ต้องเลี้ยงให้ตรงตามความต้องการของตลาดและความนิยมของผู้เลี้ยง ซึ่งจะมีผลต่อราคา

กรณี “ปลาหมอสีคางดำ” ที่ปัจจุบันพบการระบาดใน 16 จังหวัด หากมาหาต้นตอและถกเถียงกันหาตัวคนผิด ภาครัฐควรจะรีบเปลี่ยนวิธีการ ตามโจทย์ที่ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน สั่งการให้เร่งแก้ปัญหาการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด ด้วยการหาวิธีจับปลาอย่างมีประสิทธิภาพ และหาวิธีจูงใจให้คนมาลงแขกช่วยกันจับปลากัน จากนั้นต้องรณรงค์ให้มีการบริโภคเพิ่มมากขึ้น เพราะปลานี้กินได้เหมือนปลาอื่นๆ ไม่ใช่ใส่ความน่ากลัวด้วยคำว่า เอเลี่ยนสปีชี่ส์ ปลาปีศาจ ปลาวายร้าย ฯลฯ อย่างที่ผ่านมา ทำให้คนไม่กล้ากิน ทั้งที่มีโปรตีนและคุณค่าทางอาหารไม่ต่างจากปลาชนิดอื่น แถมยังปรุงง่ายทำได้หลากหลายเมนู หรือส่งเสริมทำผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปสร้างมูลค่าได้มากมาย

ก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมประมง ยังยอมรับด้วยว่า ในประเทศไทย มีปัญหาการระบาดของสัตว์เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) หลายชนิด โดย ปลาหมอสีคางดำ อาจมีที่มาจาก 2 ทาง คือ การลักลอบนำเข้ามาในประเทศ และการขออนุญาตนำเข้าเมื่อปี 2553 เพื่อทดลองวิจัยแล้วอาจหลุดรอดสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ถือเป็นประเด็นที่กำลังถูกจับตาจากสังคม เพราะเป็นข้อมูลที่ถูกบันทึกอย่างเป็นทางการเพียงครั้งเดียว ซึ่งบริษัทเอกชนยืนยันว่า ปลาที่นำเข้ามาตายระหว่างขนส่งเหลือเพียงปลาที่อ่อนแอและทยอยตาย จึงตัดสินใจยุติการวิจัยและทำลายซากปลาตามมาตรฐาน พร้อมแจ้งกรมประมง และส่งตัวอย่างปลาดองฟอร์มาลีนทั้งหมดให้กรมประมงในปี 2554 แล้ว จากข้อมูลบอกว่าใช้เวลาเลี้ยงนับจากวันแรกรับจนถึงยุติการวิจัยเพียงแค่ 16 วันเท่านั้น ซึ่งกรมประมงชี้แจงว่า ไม่ได้รับตัวอย่างปลาดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เอกสาร พยาน และหลักฐานในการพิสูจน์ความจริงต่อไป

แต่วันนี้ มีข้อมูลอีกด้านที่ทุกคนควรทราบ คือ ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin Tilapia) หรือ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron เป็นปลาต่างถิ่นที่ถูกนำไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงามในกว่า 10 ประเทศ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นต้น ยกตัวอย่าง ข้อมูลจากกองทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของสหรัฐอเมริกา พบว่า สหรัฐฯเคยมีการนำเข้าปลาหมอสีคางดำมาทดลองเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่ปลาหลุดออกไปในแหล่งน้ำธรรมชาติและมีการแพร่ระบาดจำนวนมาก ทำให้มีการประกาศห้ามนำเข้าจนถึงปัจจุบัน ( https://dlnr.hawaii.gov/ais/blackchin-tilapia/ ) และที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในปี 2556 มีรายงานการพบปลาหมอสีคางดำในระบบนิเวศและฟาร์มปลาในเมืองบาตาอัน (Bataan) ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการเรียกขานปลาชนิดนี้กันว่า Gloria, Cichilds, Tilapia Arroyo

ที่สำคัญ จากข้อมูลเว็บไซต์ของกรมประมง พบรายงานว่า ไทยมีการส่งออกปลาหมอสีคางดำมีชีวิต ในกลุ่มปลาสวยงาม ช่วงปี 2556-2559 จำนวนมากกว่า 320,000 ตัว มูลค่าส่งออกรวม 1,510,050 บาท ส่งออกไป 15 ประเทศ (แคนาดา ซิมบับเว ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย รัสเซีย มาเลเซีย อาเซอร์ไบจาน เลบานอน ปากีสถาน อียิปต์ สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ อิสราเอล อิหร่าน โปแลนด์ และตุรกี)

กลายเป็นคำถามว่า การส่งออกปลาหมอสีคางดำเป็นปลาสวยงามนั้น มีที่มาจากไหนแล้วใครเป็นผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์มาเพาะเลี้ยง ที่สำคัญคือมีการขออนุญาตอย่างถูกต้องหรือไม่ รวมถึงกรมประมงเองมีการตรวจติดตามการเพาะเลี้ยงหรือไม่ แล้วทำไมกรมฯถึงไม่ตั้งคำถามว่า หากไม่มีการนำเข้ามาแล้ว ปลาหมอสีคางดำ ที่เป็นปลาต่างถิ่นห้ามเพาะเลี้ยงในประเทศ มีการส่งออกไปได้อย่างไร และภายหลังจากปี 2559 ที่การส่งออกปลาหมอสีคางดำแทบจะเป็นศูนย์นั้น พ่อแม่พันธุ์และลูกหลานปลาที่ไม่ได้ส่งออก ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกมีการจัดการอย่างไร เวลานั้นไทยมีกฎระเบียบในการป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาชนิดนี้ แล้วมีความเข้มงวดและเข้มแข็งเพียงใด เรื่องนี้จึงต้องหาข้อพิสูจน์กันต่อ

ต่อมา ในปี 2561 กรมประมง จึงมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง กำหนดห้ามนำเข้าปลา 3 ชนิด คือ 1. ปลาหมอสีคางดำ 2. ปลาหมอมายัน (Cichlasoma urophthalmus) และ 3. ปลาหมอบัตเตอร์ (Heterrotilapia buttikoferi) หากต้องนำเข้าต้องได้รับอนุญาตจากกรมประมง เท่านั้น

พูดมาถึงตรงนี้ ก็อาจมีข้อสงสัยว่า ปลาหมอสีคางดำ ถือเป็นปลาสวยงามด้วยหรือ? สำหรับประเด็นนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant ระบุว่า…”ปลาหมอคางดำ” ที่สีสวยๆ ก็มีนะครับ อย่าคิดแต่ว่าจะต้องดูสีตุ่นๆ คล้ายปลานิลเท่านั้น .. เจอแบบนี้ ก็ต้องกำจัดเหมือนกันครับ! ภาพนี้จากสมาชิกกลุ่ม Siamensis.org ถ่ายที่แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี คาดกันว่าเป็นปลาตัวผู้ ช่วงฤดูผสมพันธุ์ เลยมีสีสันสวยงาม ดึงดูดตัวเมีย ในประเทศอื่นๆ ที่มีปลาหมอคางดำระบาด เช่น ในอเมริกา (รัฐฟลอริด้า รัฐฮาวาย) และในฟิลิปปินส์ ก็คาดกันว่า มาจากคนที่ค้าปลาแปลกๆ สวยงาม แอบเอาเข้าประเทศมากันครับ เลยระบาด (ส่วนของไทย ยังเป็นคำถามกันอยู่ครับ) <ที่มาจากโพสต์ : ทำไมปลาหมอสีคางดำตัวนี้ถึงสีสวยคะ เห็นจากโพสต์ของคนทั่วไปหรือภาพจากข่าวจะเห็นเป็นโทนสีดำๆเหมือนปลานิล แต่ตัวนี้มองด้วยตาเปล่าก็เห็นเป็นสีแบบนี้เลย ถ่ายวันที่ 24มิถุนายน 2567 ที่แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี>

กลายเป็นสมมุติฐานว่า “ปลาหมอสีคางดำ” ที่ระบาดในประเทศไทย อาจมาจากการลักลอบนำเข้าจากผู้ผลิตหลายราย แต่ไม่มีรายงาน ซึ่งการพิสูจน์ข้อเท็จจริง จึงควรดำเนินการอย่างรอบด้าน แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ การกำจัด ปลาหมอสีคางดำ ที่แพร่ระบาด ด้วยมาตรการต่างๆ อย่างเร่งด่วน โดยภาครัฐควรดำเนินการอย่างเป็นระบบ เริ่มจากระดมสมองผู้เชี่ยวชาญวางแนวทางที่สอดคล้องกัน ที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดปริมาณปลาและผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับศึกษาจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำมาแล้ว และต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง

ขณะเดียวกัน ทุกฝ่ายต้องมาร่วมกันวางมาตรการป้องกันที่เข้มงวดในอนาคต หากปล่อยไปเช่นนี้ ในอนาคตคงไม่มีผู้ประกอบการรายใดกล้าขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำอย่างถูกต้องอีก เพราะเมื่อเกิดปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นระบาดก็ตกเป็นจำเลยสังคม โดยไม่มีใครกลับไปมองประเด็นการลักลอบนำเข้า หรือความบกพร่องในการดำเนินงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทุกคนต้องเริ่มถอดบทเรียนจากเรื่องนี้ เพื่อพัฒนาระบบการควบคุมสัตว์ต่างถิ่นอย่างเป็นระบบ โดยไม่กระทบต่อระบบนิเวศน์ และต้องไม่ตัดโอกาสการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทยในวันข้างหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น