“ดร.สามารถ” แจงละเอียด ใครได้ประโยชน์แน่ รัฐจ่อขยายสัมปทาน แลกเอกชนลดค่าผ่านทางด่วน

"ดร.สามารถ" แจงละเอียด ใครได้ประโยชน์แน่ รัฐจ่อขยายสัมปทาน แลกเอกชนลดค่าผ่านทางด่วน

“ดร.สามารถ” แจงละเอียด ใครได้ประโยชน์แน่ รัฐจ่อขยายสัมปทาน แลกเอกชนลดค่าผ่านทางด่วน   Top News รายงาน 

ค่าผ่านทางด่วน

 

วันที่ 22 ก.ค.67 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ – Dr.Samart Ratchapolsitte”

 

 

ใกล้ถึงเวลาจะขึ้นค่าผ่านทางไม่ว่าจะเป็นทางด่วนหรือดอนเมืองโทลล์เวย์คราใด ภาครัฐมักจะเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทานให้ชะลอการขึ้นค่าผ่านทาง เพื่อลดภาระค่าครองชีพของผู้ใช้บริการ แต่ครั้งนี้มาแปลกจะขอให้ลดค่าผ่านทางแลกกับขยายเวลาสัมปทานให้เอกชน การทำเช่นนี้รับรองว่าเอกชนผู้รับสัมปทานยิ้มแก้มปริแน่นอน เพราะมีแต่ได้กับได้ ส่วนผู้ใช้บริการอย่าหลงดีใจยิ้มไปกับเขาด้วย เพราะมีแต่เสียกับเสีย !

1. สัมปทานทางพิเศษ

ทั้งทางด่วน (บางสาย) และดอนเมืองโทลล์เวย์ ภาครัฐให้สัมปทานแก่เอกชนในรูปแบบ BTO (Build-Transfer-Operate) กล่าวคือเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง (B=Build) แล้วโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างให้แก่รัฐ (T=Transfer) จากนั้นรัฐมอบสิทธิ์ในการประกอบการให้เอกชนตามระยะเวลาที่ได้ตกลงกัน (O=Operate) เช่น 25 ปี หรือ 30 ปี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหมดระยะเวลาสัมปทานรัฐได้ขยายสัมปทานให้เอกชนด้วยเหตุผลที่รัฐไม่ปฏิบัติตามสัญญาสัมปทาน เช่นกรณีทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) เอกชนกล่าวหารัฐว่าขึ้นค่าผ่านทางต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือกรณีดอนเมืองโทลล์เวย์ เอกชนกล่าวหารัฐว่าปิดสนามบินดอนเมืองในปี 2549 แล้วย้ายไปรวมกับสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นเหตุให้ดอนเมืองโทลล์เวย์มีรถใช้บริการน้อยลง ทำให้เอกชนมีรายได้ลดลง เป็นต้น

ข่าวที่น่าสนใจ

ถึงเวลานี้ ทางด่วนศรีรัชได้รับการขยายสัมปทานไปจนถึงปี 2578 ส่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ได้รับการขยายสัมปทานไปจนถึงปี 2577 หลายคนดีใจว่าอีกไม่นานทั้งทางด่วนศรีรัชและดอนเมืองโทลล์เวย์จะตกเป็นของรัฐ ค่าผ่านทางก็จะถูกลง แต่อย่าหลงดีใจ เพราะมีข่าวว่ารัฐจะขยายสัมปทานให้เอกชนอีกทั้งทางด่วนศรีรัชและดอนเมืองโทลล์เวย์ แลกกับการลดค่าผ่านทาง พูดง่ายๆ ว่าขยายสัมปทานเพื่อลดค่าครองชีพของผู้ใช้บริการ การทำเช่นนี้หลายคนคิดว่าดี แต่ที่จริงแล้วกลับไม่ดีจริง

2. ข้อดี-ข้อเสีย ของการขยายสัมปทาน

กรณีทางด่วนศรีรัช มีข่าวว่ารัฐจะขยายสัมปทานให้เอกชน 22 ปี 5 เดือน เพื่อแลกกับการลดค่าผ่านทางช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 เหลือสูงสุดไม่เกิน 50 บาท และให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck) ช่วงดังกล่าวด้วย
ส่วนกรณีดอนเมืองโทลล์เวย์ รัฐกำลังศึกษาว่าจะขยายสัมปทานให้เอกชนกี่ปี เพื่อแลกกับการลดค่าผ่านทางลงเหลือในอัตราที่เหมาะสม รวมทั้งให้เอกชนลงทุนขยายเส้นทางจากรังสิตไปจนถึงบางปะอิน

ข้อดีของการขยายสัมปทานเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้บริการ แต่ค่าผ่านทางที่ลดลงจะน้อยกว่าค่าผ่านทางที่รัฐจะลดลงในกรณีไม่ขยายสัมปทาน เนื่องจากสิทธิ์ในการประกอบการเป็นของรัฐ 100% ข้อดีอีกประการหนึ่งก็คือเป็นการลดการลงทุนโดยภาครัฐ (หากมีการก่อสร้างทางด่วน Double Deck และ/หรือส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์)

ข้อเสียของการขยายสัมปทานก็คือ จะทำให้เอกชนมีสิทธิ์ในการประกอบการทางด่วนศรีรัชและดอนเมืองโทลล์เวย์ต่อไป โดยไม่ต้องโอนสิทธิ์การประกอบการมาเป็นของรัฐ ส่งผลให้รัฐไม่สามารถกำหนดอัตราค่าผ่านทางได้อย่างอิสระ เพราะจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อรายได้ของเอกชนด้วย เป็นเหตุให้ไม่สามารถลดค่าผ่านทางทั้งโครงข่าย (ในกรณีทางด่วนไม่ใช่เฉพาะช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 เท่านั้น) ให้ถูกลงได้ ผู้ใช้บริการก็จะต้องจ่ายค่าผ่านทางแพงอีกต่อไป

3. ใครได้ประโยชน์จากการขยายสัมปทาน ?

แน่นอนว่าเอกชนผู้รับสัมปทานจะต้องได้ประโยชน์ มิฉะนั้น เขาจะไม่เรียกร้องให้ขยายสัมปทาน ประโยชน์ที่เอกชนจะได้รับก็คือหุ้นจะขึ้น และจะได้เก็บกำไรตลอดระยะเวลาสัมปทานที่ได้รับการขยาย

ส่วนผู้ใช้บริการจะได้ประโยชน์จากการจ่ายค่าผ่านทางถูกลง แต่จะถูกลงน้อยกว่าหากรัฐได้เป็นผู้เก็บค่าผ่านทางเอง โดยไม่ขยายสัมปทานให้เอกชน

ที่สำคัญ สังคมอาจตั้งข้อสงสัยได้ว่าผู้อนุมัติให้ขยายสัมปทานจะได้ประโยชน์ด้วยหรือไม่ ? ประเด็นนี้ต้องคิดกันเอาเอง ผมไม่อาจทราบได้

4. ข้อเสนอแนะ

เป็นที่น่าสังเกตว่าการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการคมนาคมขนส่งในบ้านเรา มักจะมีการขยายสัมปทานให้เอกชนอย่างหาจุดสิ้นสุดไม่ได้ เป็นความบกพร่องจากการบริหารสัญญาสัมปทาน ทำให้รัฐและผู้ใช้บริการไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่

ด้วยเหตุนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการหรือประเทศชาติโดยส่วนรวม ผมขอเสนอแนะให้หยุดขยายสัมปทานให้เอกชน ซึ่งจะทำให้รัฐมีอำนาจการบริหารทางด่วนศรีรัชและดอนเมืองโทลล์เวย์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ สามารถลดค่าผ่านทางให้ถูกอย่างยั่งยืนได้ ทั้งนี้ หากจำเป็นจะต้องก่อสร้าง Double Deck ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 และ/หรือต่อขยายเส้นทางดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงรังสิต-บางปะอิน รัฐก็ควรลงทุนก่อสร้างเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เสนาธิการทหารเรือ เน้นให้หน่วยงานลงพื้นที่สำรวจ พบปะชาวบ้านสำหรับการป้องกัน "เชิงรุก"
“ธนกร” ค้านร่าง “สุราก้าวหน้า” ฉบับ “เท่าพิภพ” ชี้สุดซอยเกินเหตุ หวั่นไม่ได้มาตรฐาน อาจซ้ำรอย “ยาดองมรณะ”
"กองทัพเรือ" จัดกำลังเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย 4 จังหวัด พร้อมเฝ้าระวังและรับมือสถานการณ์อุทกภัย
นายอำเภอบางละมุง ร่วมกิ่งกาขาดอำเภอบาวละมุง, ผู้บริหารเมืองพัทยา ลงพื้นที่ บ้านเกาะล้าน มอบทุนการศึกษา-ให้ขวัญกำลังใจ นักเรียนโรงเรียนเมืองพัทยา 10
ฉะเชิงเทรา คึกคัก เทศกาลคืนวันไหว้พระจันทร์
"บิ๊กอ้วน" เป็นประธานพิธีปิดการศึกษา หลักสูตรวปอ.รุ่นที่ 66
จ.ระยอง ชวนชมฟรีคอนเสิร์ต 'Rayong long beach festival 2024 @Laemmaephim' จัดใหญ่ขนนักร้องชื่อดังของเมืองไทย ระเบิดความมันส์ พร้อมเต็มอิ่มกับอาหารทะเล Street food 20-22 ก.ย.นี้ ที่ชายหาดแหลมแม่พิมพ์ อ.แกลง
"รองผู้ว่าการรถไฟฯ" ตามติดน้ำท่วม ม.พะเยา ยันโครงการก่อสร้างทางรถไฟของโครงการทางคู่ ไม่มีเอี่ยวเหตุน้ำท่วม พร้อมสั่งจนท.เข้าลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือ-ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด-ติดตามสถานการณ์ทุกระยะ
บริษัท กรุงสยามเครื่องดื่ม จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง ตรา คอมมานโด ได้มอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
"กรมอุตุฯ" เตือน พายุ "ดีเปรสชัน" ฉบับ 6 จ่อทวีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อน ไทยฝนตกหนักถึงหนักมาก

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น