“ปลาหมอคางดำ” เมนูสร้างสรรค์ บริโภคได้ในครัวเรือน

กดติดตาม TOP NEWS

นักวิชาการ ชี้ วิกฤต คือ โอกาส เมื่อปลาหมอคางดำมีมากในแหล่งน้ำ มาร่วมด้วยช่วยกันจับ นำมาทำเมนูเด็ดสำหรับบริโภคในครัวเรือน ช่วยลดปัญหา ช่วยรักษาสมดุลแหล่งน้ำ สร้างคุณค่าให้กับปลา ได้ประโยชน์รอบด้าน
ผศ.ดร.ภูธฤทธิ์ วิทยาพัฒนานุรักษ์ รักษาศิริ อาจารย์ประจำคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักของ “ปลาหมอคางดำ” ในแหล่งน้ำของไทยขณะนี้ โดยปลาดังกล่าวเป็นปลาต่างถิ่น สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวด กินทุกอย่างทั้งพืชและสัตว์ เมื่ออยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ จะทำลายระบบนิเวศ รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ ซึ่งทุกภาคส่วนร่วมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนช่วยกันกำจัดเพื่อควบคุมและลดปริมาณปลา โดยนำปลามาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าสูงสุด ซึ่งแนวทางที่มีการแนะนำกันแพร่หลายอยู่ในขณะนี้คือ การนำมาทำเมนูอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น น้ำปลา ข้าวเกรียบ หรือ ปลาป่น ทำปุ๋ยชีวภาพ แต่วิธีที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดสำหรับทุกคน คือ การนำไปทำเป็นอาหารสำหรับบริโภคในครอบครัว
“ปลาหมอคางดำ” แม้เป็นปลาต่างถิ่น แต่สามารถรับประทานได้เหมือนปลาทั่วไป เป็นปลาตระกูลเดียวกันกับปลานิล มีคุณค่าทางโภชนาการ โปรตีนและไขมันเทียบเท่ากับปลานิล โดยคุณค่าทางโภชนาการไม่น้อยหน้าปลาชนิดอื่น ใช้เป็นวัตถุดิบปรุงอาหาร รังสรรค์ได้หลากหลายเมนู โดย มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้คิดริเริ่มและจัดทำแผนช่วยลดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำตั้งแต่เริ่มพบการระบาดในแหล่งน้ำ ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนในพื้นที่ โดยร่วมกับสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี เผยแพร่องค์ความรู้ส่งเสริมการแปรรูปปลาหมอคางดำเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงทำงานวิจัยร่วมกันกับชุมชนเพื่อกำจัดปลาดังกล่าว โดยนำเอามาทำเป็นอาหาร ทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น มีราคาเพิ่มขึ้น และมีประโยชน์กับประชาชน ซึ่งเป็นอีกวิธีช่วยควบคุมและลดปริมาณปลาหมอคางดำ
ทางมหาวิทยาลัยฯ มีพันธกิจทำงานเพื่อชุมชนและให้องค์ความรู้กับคนในชุมชน สำหรับผลิตภัณฑ์และเมนูที่คัดเลือกมาทำการวิจัยและพัฒนาโดยใช้ปลาหมอคางดำเป็นวัตถุดิบ เพื่อส่งเสริมการบริโภค และนำเสนอชุมชน มีทั้งหมด 20 ผลิตภัณฑ์ อาทิ ลูกชิ้น กรรเชียง ปลาร้าเป็นตัว ปลาร้าผง น้ำซุป น้ำสต๊อก น้ำบูดู น้ำหมักปรุงรส ปลาแดดเดียว ปลาสามรส ปลาสวรรค์ ฯลฯ
สำหรับเมนูที่ชุมชนชื่นชอบและเข้าถึงได้ง่าย คือ “น้ำพริกแห้งปลาหมอคางดำ” และ “ไส้อั่วปลาหมอคางดำ” นอกจากจะเป็นเมนูที่สามารถทำรับประทานได้ในครัวเรือนแล้ว ยังเป็นเมนูส่งเสริมการแปรรูปของคนในชุมชน เพื่อสร้างรายได้เสริมและใช้ประโยชน์จากปลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย น้ำพริกแห้งปลาหมอคางดำ มีส่งออกสหรัฐอเมริกาด้วย เพราะเก็บได้นาน ต่างชาติชอบกินใช้กินกับขนมปังได้ โดยมหาวิทยาลัยฯ ได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตรน้ำพริกแห้งปลาหมอคางดำแล้ว แต่ไม่จดลิขสิทธิ์สำหรับชุมชน

นอกจากนี้ ปลาหมอคางดำ เป็นปลาก้างแข็ง หากนำก้างไปย่อยเป็นแคลเซียม ฟอสฟอรัส จะมีสูงกว่าปลาทั่วไป ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ หากในแง่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ในอนาคต สามารถนำไปผลิตเป็นแคลเซียมผง หรือแคลเซียมสำเร็จรูปได้

ผศ.ดร.ภูธฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่เริ่มการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ได้ลงพื้นที่พาชาวบ้านกินปลาหมอคางดำ ในจังหวัดเพชรบุรี 4-5 พื้นที่ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 5 พื้นที่ โดยชุมชนลงจับปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ อาทิ แม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งเราสามารถทำลายมันได้ด้วยการกิน ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนกินปลาหมอคางดำ เพื่อควบคุมและอยู่ร่วมกันกับมันให้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น