จับตา! ฟังคำพิพากษาคดี 112 คดีที่ 4 “อานนท์ นำภา” หากศาลสั่งโทษจำคุกเกิน 5 ปี ถูกส่งไปเรือนจำคลองเปรม รวมกับนักโทษอุกฉกรรจ์ทันที
ข่าวที่น่าสนใจ
เชื่อว่าป่านนี้คงกินไม่ได้ นอนไม่หลับแล้ว สำหรับ นายอานนท์ นำภา แกนนำม็อบ 3 นิ้ว และผู้ต้องหาคดี ม.112 เพราะวันที่ 25 ก.ค.นี้ เวลา 13.30 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของอานนท์ ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ 2 ข้อความบนเฟซบุ๊ก ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. 2564 โดยโพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของในหลวงรัชกาลที่ 10
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 ก.ย.64 พนักงานสอบสวนจาก บก.ปอท. ได้เข้าแจ้งข้อหาทั้งสอง ในขณะที่อานนท์ถูกคุมขังระหว่างสอบสวน ในคดีมาตรา 112 คดีอื่น ต่อมาในวันที่ 28 มี.ค.65 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ได้เป็นผู้เรียงฟ้อง คดีต่อศาลอาญา
ในคดีนี้อัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีแยกเป็น 2 กระทง แบ่งเป็นข้อความละ 1 กระทง โดยเฉลี่ยคดีมาตรา 112 ในช่วงปัจจุบัน ศาลมักลงโทษจำคุกอยู่ที่กระทงละ 3 – 4 ปี และปัจจุบัน หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีของอานนท์ไปแล้ว 3 คดี ทำให้ถูกลงโทษจำคุกรวม 10 ปี 20 วัน และยังมีโทษในคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีชุมนุม #ม็อบ27พฤศจิกา63 ที่ถูกจำคุกอีก 2 เดือน รวมเป็น 10 ปี 2 เดือน 20 วัน
แม้คดีทั้งหมดยังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา ยังไม่ได้ถึงที่สุด แต่หากคดีที่กำลังจะตัดสินใหม่นี้ ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกรวมกันเกินกว่า 5 ปี อาจทำให้อานนท์มีโทษจำคุกสะสมเพิ่มเกินกว่า 15 ปี และทำให้อานนท์จะต้องถูกย้ายตัวไปอยู่ในเรือนจำกลางคลองเปรมทันที ซึ่งเป็นเรือนจำที่ใช้คุมขังผู้ต้องขังที่มีโทษเกินกว่า 15 ปี จนถึงโทษประหารชีวิต
คดีนี้มีการสืบพยานรวม 2 นัด ในระหว่างวันที่ 25 – 26 มิ.ย. 2567 มีพยานโจทก์เข้าเบิกความ 3 ปาก และพยานจำเลย 1 ปาก โดยศาลมีคำสั่งตัดพยานโจทก์ปากที่เป็นพยานความเห็นรวม 4 คน ออกทั้งหมด ระบุว่า ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องให้พยานบุคคลดังกล่าว มาเบิกความให้ความเห็น อย่างไรก็ตาม อัยการได้แถลงคัดค้านคำสั่งตัดพยานโจทก์ไว้ด้วย
ในการสืบพยานอัยการโจทก์นำสืบว่า โพสต์ข้อความของอานนท์ทั้งหมด ทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ทรงใช้พระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรงด้วยตนเอง และทรงใช้พระราชอำนาจในการบริหารประเทศ ตามอำเภอใจ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียชื่อเสียง
ด้านอานนท์มีข้อต่อสู้ว่า โพสต์ข้อความตามฟ้อง เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ด้วยเจตนาที่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ อันเป็นสิทธิเสรีภาพ ที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
ในวันที่ 26 มิ.ย. 67 อานนท์อ้างตัวเองเป็นพยานจำเลยเข้าเบิกความ โดยกล่าวถึงการตีความมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไว้ว่า การที่อัยการฟ้อง โดยระบุข้อกฎหมายข้างต้นมาด้วยกันนั้น เป็นคนละเรื่องเดียวกัน การที่ระบุว่า เราไม่สามารถติชมหรือฟ้องร้องกษัตริย์ได้นั้น ขัดต่อหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ปัจจุบันประเทศไทย ได้ให้สัตยาบัน และเข้าร่วมเป็นสมาชิกกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ จึงมีพันธะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะตามกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 เพื่อรองรับเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
ในการพูดหรือแสดงความเห็นของตนทุกครั้ง ก็แสดงออกไปด้วยความสุจริตใจ อานนท์บอกกับศาลว่า แล้วแต่ท่าน ว่าจะเชื่อหรือไม่ แต่การวิพากษ์วิจารณ์ ย่อมต้องมีหน่วยกล้าตายเช่นนี้ เพื่อให้สังคมก้าวต่อไปข้างหน้าได้
“ผมขอต่อท่านทั้งหลายว่า ในการพิพากษาคดี ม.112 ขอท่านอย่าได้สถาปนาคำพิพากษา เช่นในคดีที่ผ่านมาต่อไปเรื่อยๆ เพราะเมื่อสังคมอารยประเทศเขามองเข้ามา มันน่าละอาย การพิพากษาเช่นนี้ ไม่ได้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่อารยประเทศเขาใช้กัน”
นี่เป็นคำพูดในศาลของ อานนท์ นำภา ต้องรอดูว่า วันพรุ่งนี้เจ้าตัวจะถูกส่งไปอยู่รวมกับนักโทษคดีอุจฉกรรจ์หรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง