สำนักข่าว CNN รายงานว่า มีหลายประเทศที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังต้องปิดประเทศนานกว่า 18 เดือน และมีอยู่ 5 ประเทศที่เร่งฉีดวัคซีน ตัดสินใจเปิดประเทศ และใช้นโยบายอยู่ร่วมกับโควิด เนื่องจากมองว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมรุนแรงและเลวร้ายกว่าผลที่ได้จากการล็อคดาวน์ แม้จะต้องแลกกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น และ 1 ใน 5 ก็มีไทยรวมอยู่ด้วย
ประเทศแรกคือเดนมาร์ก ที่ประกาศยกเลิกมาตรการเข้มงวดด้านต่างๆเพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 10 ก.ย ที่ผ่านมา ประชาชาชนสามารถใช้ชีวิตได้เกือบเหมือนก่อนยุคโควิด ไม่ต้องใช้วัคซีนพาสปอร์ต ไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัย พร้อมทั้งระบุว่าโรคโควิด-19 ไม่ใช่โรคที่เป็นภัยคุกคามต่อสังคมของประเทศอีกต่อไป
เมื่อวันที่ 13 ก.ย รัฐบาลเดนมาร์กฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบโดสในอัตรากว่า 74% ของประชากรทั้งประเทศ ต่อมาคือสิงคโปร์ 1 ในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูงที่สุดในโลกคือ 81% ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายมาเป็นการอยู่ร่วมกับโรคระบาดนี้ให้ได้ แต่พอเจอโควิดสายพันธุ์เดลต้า ทำเอานโยบายคลายล็อคและอยุ่ร่วมกับโควิดถึงกับสะดุดไปเหมือนกัน เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ยอมลด ทำให้สิงคโปร์ตัดสินใจชะลอการคลายล็อคไว้ชั่วคราว แถมล่าสุดสัปดาห์ที่แล้วยังประกาศว่าอาจจะนำมาตรการคุมเข้มกลับมาใช้ หากยังคุมตัวเลขที่สูงขึ้นไม่อยู่
ตามมาด้วย ไทย ที่ถึงแม้จะมีความล่าช้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19ให้กับประชาชน แต่รัฐบาลไทยของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชายังคงเดินหน้าที่จะเปิดประเทศ โดยมีโรดแม็พจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนหน้า โดยจะเริ่มเปิดที่กรุงเทพ, หัวหิน, พัทยา และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญของไทย หลังจากเริ่มโครงการภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ไปเมื่อ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา และขยายต่อไปยังเกาะสมุย, พงัน, และเกาะเต่า CNNรายงานว่า อัตราความสำเร็จของการฉีดวัคซีนโควิด-19ของไทยยังตามหลังเพื่อนบ้าน โดยเว็บไซต์ ourworldindata.org รายงานเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ว่า มีแค่ 18% ของประชากรไทยที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดส และมีจำนวน 21% ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแค่เข็มแรก
ขณะเดียวกัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ซึ่งในช่วงแรกที่ใช้มาตรการคุมเข้มแบบสุดโต่ง แต่ โดยรัฐบาลเริ่มต้นผ่อนคลายมาตรการจำกัดทางโควิด-19 เมื่อวันอาทิตย์(12ก.ย.)เนื่องมาจากมีอัตราการติดเชื้อต่ำลงภายในประเทศ และบอกว่ามีจำนวนวัคซีนในประเทศมากพอ โดยฉีดไปแล้วราว 25%
สุดท้ายคือประเทศชิลี ที่ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาประเทศถึงความสำเร็จของโครงการแจกวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ โดยกระทรวงสาธารณสุขชิลีระบุว่าประชากรในประเทศเกือบ 87% ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดส เมื่อวานนี้สาธารณสุขชิลีได้อนุมัตรับรองให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคให้เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป พร้อมประกาศเดินหน้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยววันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเข้าสู่ฤดูร้อนหรือฤดูการท่องเที่ยวของประเทศแถบขั้วโลกใต้พอดี แบบไม่หวั่นเกรงโควิดสายพันธุ์เดลต้า โดยบอกว่าชิลีจำเป็นต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว แต่จะกำหนดให้กักตัว 5 วัน