“อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ชื่อนี้มีที่มา เป็น “มรดกโลก” แห่งที่ 8 ของประเทศไทย

ภูพระบาท

ย้อนตำนาน “ภูพระบาท” ชื่อนี้มีที่มา ก่อนเป็น “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 8 ของประเทศไทย และแห่งที่ 2 ของ จ.อุดรธานี

 

ภูพระบาท

 

Top News รายงาน “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” เป็นพื้นที่ของเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขือน้ำ” กินพื้นที่ทั้งหมด 3,430 ไร่ ตั้งอยู่บนเขา “ภูพระบาท” ภูเขาขนาดย่อมลูกหนึ่งของเทือกเขาภูพาน อันเป็นแนวขอบด้านทิศตะวันตกของเเอ่งสกลนคร ซึ่งอยู่ในเขตคาบเกี่ยวระหว่าง ต.เมืองพาน และ ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี โดยกรมศิลปากร ได้ขอใช้พื้นที่ “ภูพระบาท” จากกรมป่าไม้ ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 63 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2524 จากนั้นจึงได้พัฒนา จนกลายเป็น “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท”

ข่าวที่น่าสนใจ

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ประวัติ

 

สภาพภูมิประเทศของ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” มีลักษณะเป็นโขดหินและเพิงผา ที่กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก เกิดจากการผุพังสลายตัวของหินทราย ซึ่งมีเนื้อหินที่แข็งแกร่งแตกต่างกัน ระหว่างชั้นของหินที่เป็นทรายแท้ๆ ซึ่งมีความแข็งแกร่งมาก กับชั้นที่เป็นทรายปนปูน ซึ่งมีความแข็งแกร่งน้อยกว่า นานๆ ไปจึงเกิดเป็นโขดหิน และเพิงผารูปร่างแปลกๆ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ส่วนชื่อ “ภูพระบาท” ก็มีที่มา จากรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนเทือกเขาแห่งนี้นั่นเอง

 

ภายใน “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” มีโบราณสถานสำคัญ ที่น่าสนใจมากมาย จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาศึกษา และยลความงดงาม ไม่ว่าจะเป็น

 

1. หอนางอุสา

ถือเป็นสัญลักษณ์ของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีลักษณะเป็นเพิงหินธรรมชาติขนาดใหญ่ที่เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ มีความสูง 10 เมตร รูปร่างคล้ายดอกเห็ด ตั้งอยู่กลางลานหินโล่งกว้าง ทำให้ดูโดดเด่นกว่าโบราณสถานจุดอื่นๆ จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า หอนางอุสามีอายุเก่าแก่ถึงสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 โดยถูกดัดแปลงเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพุทธศาสนา

 

2. ถ้ำพระ

มีลักษณะเป็นเพิงหินเตี้ยๆ รูปร่างแคบยาว ถูกดัดแปลงให้เป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธ หลักฐาน คือ ที่ผนังใต้เพิงหิน มีการสลักเป็นรูปพระพุทธรูปอยู่รอบด้าน ทั้งพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางสมาธิประทับนั่งอยู่ในซุ้มหน้าบัน พระพุทธรูปยืนขนาดเล็กยืนเรียงกัน 6 องค์ และพระพุทธรูปปางต่างๆ ผสมผสานระหว่างศิลปะสมัยทวารวดีและศิลปะเขมร (ศิลปะลพบุรี) เรียงรายอยู่ทั่วทั้งผนังเพิง

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

3. กู่นางอุสา (กี่นางอุสา)

มีลักษณะเป็นเพิงหินธรรมชาติ หลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏอยู่มีสองสมัย คือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ ภาพเขียนสีบนผนังด้านตะวันตก และหลักฐานสมัยประวัติศาสตร์ คือหลุมสกัดพื้นที่ใต้เพิง ซึ่งน่าจะใช้ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือพระพุทธรูป และใบเสมาหินที่ปักอยู่ทั้ง 8 ทิศ และพบหลุมเสากลมเรียงเป็นกรอบสี่เหลี่ยมล้อมรอบแนวใบเสมาอีกชั้นหนึ่ง (อาจเป็นหลุมเสารั้ว)

 

4. หีบศพพ่อตา

โบราณสถานแห่งนี้ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ถ้ำมือแดง” เป็นเพิงหินธรรมชาติ ที่พบหลักฐานทางโบราณคดีคือภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และร่องรอยการสกัดพื้นหินใต้เพิงให้เรียบ จึงสันนิษฐานว่า หีบศพพ่อตาน่าจะถูกใช้งานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์

 

5. ถ้ำวัว – ถ้ำคน

เป็นโบราณสถานที่อยู่ในเพิงหินเดียวกัน เป็นแหล่งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นของอุทยาน ตัวเพิงหินมีลักษณะเป็นชะง่อนขนาดใหญ่ ใช้กันแดดฝนได้

 

6. โนนสาวเอ้ 

เป็นแหล่งภาพเขียนสีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท  มีลักษณะเป็นเพิงหินทรายขนาดใหญ่ ส่วนที่ได้ชื่อว่า “โนนสาวเอ้” มีที่มาจากความเชื่อที่เล่าขานกันว่า สถานที่แห่งนี้ เป็นที่ๆ ผู้หญิงใช้เปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาท

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

หลักเกณฑ์มรดกโลก

 

กว่าจะได้รับรองขึ้นเป็น “มรดกโลก” ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน เพราะต้องผ่านเกณฑ์การคัดเลือกของ UNESCO ซึ่งแต่ละสถานที่ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ก็มีข้อเสนอเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป โดยเกณฑ์การคัดเลือกมีอยู่ 10 ข้อ และการได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ต้องตรงตามเกณฑ์อย่างน้อย 1 ข้อ

 

  1. เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอก ที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์
  2. เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลก ซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
  3. เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรม หรืออารยธรรมที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน หรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
  4. เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้าง อันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
  5. เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของวัฒนธรรมมนุษย์ ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งเสื่อมสลายได้ง่ายจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตามกาลเวลา
  6. มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์

 

ทั้งนี้ หาก “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลก จะนับเป็นมรดกโลกแห่งที่ 8 ของประเทศไทย และแห่งที่ 2 ของ จ.อุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

 

 

 

 

แหล่งที่มาข้อมูล : วิกิพีเดีย, museumthailand, ขอบคุณภาพ : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

สพฐ. จับมือผู้บริหารเขตพื้นที่ชายแดนใต้ ขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุก ร่วมใจสร้างคุณภาพทุกห้องเรียน
"สรวงศ์" ลุยแก้ปัญหา "เกาะกูด" ดึงนทท.ต่างชาติ ระดับไฮเอนด์ กระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่
ส่องเงินรางวัล "โอปอล สุชาตา" หลังคว้ารองอันดับ 3 เวที Miss Universe 2024
เปิดจำนวนเงินรางวัล "Miss Universe 2024" หลังสาวงามเดนมาร์ก คว้ามงกุฎไปครอง
“บิ๊กโจ๊ก-เสรีพิศุทธ์” ให้การป.ป.ช. ลือสนั่น คดีช้้น 14 มีมูล จ่อเอาผิดกราวรูด
"กิตติรัตน์" เคลื่อนไหวแล้ว โพสต์ทุกเสียงค้านคือเครื่องเตือนใจ ให้ปฏิบัติดี
“รับน้องขึ้นดอย” นศ.โชว์สปิริตฝ่า “โค้งขุนกัณฑ์” พร้อมเพรียงสุดขนลุก!
เล่นผิดคนแล้ว “กัน จอมพลัง” ดับซ่าส์ “โล้นปีนเสา” แจ้งความจับคาผ้าเหลือง
"พิชัย" นำทีมเจรจา Google ขยายลงทุน คุย Walmart เปิดโอกาสสินค้าไทยวางขายเพิ่ม
สุดห่วง "สามี" วอนช่วยตามหา "ภรรยา" หายตัวปริศนา หลังเครียดสูญเงินลงทุน “ดิไอคอน” นับแสนบาท

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น