“ดร.สามารถ” ถามตรงๆ รัฐอุ้มเอกชน ขยายสัมปทาน “ด่วนโทลเวย์” 2 ครั้ง 20 ปี ยังไม่พออีกเหรอ แนะมีวิธีแก้ปัญหาอื่นดีกว่า – Top News รายงาน
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อมความผ่านเฟซบุ๊กโดยระบุว่า .. สัมปทานโทลล์เวย์ จาก 25 ปี ยืดเป็น 45 ปี ยังไม่พออีกหรือ ?
หลายคนคงยังไม่รู้ว่า รัฐได้ขยายสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์ให้เอกชนผู้รับสัมปทานไปแล้ว 2 ครั้ง รวม 20 ปี ทำให้ปีสิ้นสุดสัญญาสัมปทานถูกเลื่อนจากเดิมในปี 2557 เป็นปี 2577 เหลือแค่เพียง 10 ปีเท่านั้นที่สิทธิ์การบริหารจัดการโทลล์เวย์จะกลับมาเป็นของรัฐ ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถลดค่าผ่านทางให้ถูกลงมาได้หรือจะให้ใช้บริการฟรีก็ได้ โดยไม่ต้องง้อเอกชน แต่กลับมีข่าวว่ารัฐจะขยายสัมปทานให้เอกชนอีก น่าเสียดายยิ่งนัก !
1. เรื่องไม่ลับ แต่หลายคนอาจไม่รู้
ผมเชื่อว่าหลายคนโดยเฉพาะคนที่มีอายุไม่มากอาจไม่รู้ว่า สัญญาสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์ระหว่างกรมทางหลวงกับบริษัท ดอนเมืองโทลล์เวย์ จำกัด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อและแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนชื่อ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT โดยลงนามในวันที่ 21 สิงหาคม 2532 นั้น ได้ให้สิทธิ์ DMT ทุบและรื้อสะพานลอย 2 แห่ง ที่ทอดข้ามแยกหลักสี่และแยกบางเขนในแนวเหนือ-ใต้บนถนนวิภาวดีรังสิตออก แล้วให้ DMT สร้างสะพานลอยใหม่แทนในแนวตะวันออก-ตะวันตกบนถนนแจ้งวัฒนะและถนนงามวงศ์วานตามลำดับ
การทุบสะพานลอยทั้ง 2 แห่ง ที่แยกหลักสี่และแยกบางเขนออกย่อมทำให้กระแสจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิตติดขัด ไม่ไหลลื่นเหมือนเดิม ผู้ใช้รถใช้ถนนจึงต้องมองหาทางเลือกอื่นแทน ซึ่งแน่นอนว่าดอนเมืองโทลล์เวย์เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการสัญจรบนแนวเหนือ-ใต้ !
2. รัฐเคยอุ้มเอกชนผู้รับสัมปทานมาแล้ว
2.1 ขยายสัมปทานครั้งที่ 1 ปี 2539
หลังจากรัฐให้สัมปทานแก่เอกชนได้ไม่นาน ในปี 2539 รัฐได้ขยายเวลาให้เอกชนเป็นเวลา 7 ปี ทำให้สัญญาสัมปทานได้รับการยืดเวลาสิ้นสุดจากปี 2557 เป็นปี 2564 โดยได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 เหตุที่ขยายเวลาให้เอกชนมีดังนี้
(1) ให้เอกชนลงทุนขยายเส้นทางและเก็บค่าผ่านทางจากดอนเมือง–อนุสรณ์สถาน ระยะทาง 5.6 กิโลเมตร ทำให้ระยะทางเพิ่มขึ้นจากเดิม 15.4 กิโลเมตร เป็น 21 กิโลเมตร การขยายเส้นทางทำให้มีปริมาณรถใช้ดอนเมืองโทลล์เวย์เพิ่มมากขึ้น
(2) ให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมอาคารผู้โดยสารของสนามบินดอนเมือง การมีเส้นทางเชื่อมกับสนามบินดอนเมืองทำให้มีปริมาณรถใช้ดอนเมืองโทลล์เวย์เพิ่มมากขึ้น
(3) ให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางเชื่อมกับทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่ดินแดง การมีเส้นทางเชื่อมกับทางด่วนของ กทพ. ทำให้มีปริมาณรถใช้ดอนเมืองโทลล์เวย์เพิ่มมากขึ้น
นอกจากขยายสัมปทานให้เอกชนแล้ว ตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาฉบับดังกล่าว (ลงนามวันที่ 29 พ.ย. 2539) ยังให้สิทธิ์เอกชนปรับอัตราค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นได้อีกเมื่อก่อสร้างส่วนต่อขยายจากดอนเมือง-อนุสรณ์สถานแล้วเสร็จ อีกทั้ง รัฐจะช่วยจัดหาเงินกู้ผ่อนปรนให้เอกชน 8,500 ล้านบาท และจะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน DMT จำนวน 3,000 ล้านบาท
2.2 ขยายสัมปทานครั้งที่ 2 ปี 2550
ในปี 2550 รัฐได้ขยายสัมปทานให้เอกชนเป็นเวลา 13 ปี ทำให้สัญญาสัมปทานได้รับการยืดเวลาสิ้นสุดจากปี 2564 เป็นปี 2577 มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาในวันที่ 12 กันยายน 2550
เหตุที่ขยายเวลาให้เอกชนครั้งที่ 2 ก็เพราะเอกชนจะยกเลิกข้อเรียกร้อง การฟ้องคดีต่อศาล และ/หรือการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการที่เกิดขึ้นแล้ว หรืออาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของรัฐที่เอกชนเห็นว่าทำให้รายได้ของเขาลดลง เช่น การก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ (Local Road) การก่อสร้างทางเบี่ยงบนถนนวิภาวดีรังสิต การก่อสร้างสะพานลอยบนทางขนานของถนนวิภาวดีรังสิตที่แยกลาดพร้าวและแยกสุทธิสาร การย้ายสนามบินดอนเมืองไปสนามบินสุวรรณภูมิ และการจัดหาเงินกู้ผ่อนปรนไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงในอดีต เป็นต้น
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าเอกชนจะเก็บรายละเอียดทุกอย่างซึ่งเป็นการดำเนินงานของรัฐและเขาเห็นว่าทำให้รายได้ของเขาลดลง แล้วนำมาเรียกร้องให้รัฐชดเชยโดยการขยายสัมปทานให้เขา ไม่เว้นแม้แต่การที่รัฐสร้างทางเบี่ยงบนถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งแทบไม่มีผลกระทบต่อดอนเมืองโทลล์เวย์เลย !
นอกจากรัฐได้ขยายสัมปทานให้เอกชนแล้ว ตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาฉบับดังกล่าว (ลงนามวันที่ 12 ก.ย. 2550) ยังให้เอกชนใช้ค่าผ่านทางอัตราใหม่ อีกทั้ง ยังได้ระบุไว้ด้วยว่า “ข้อ 8 กรมทางหลวงตกลงจะไม่เก็บเงินค่าผ่านทางบนทางยกระดับช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิตทั้งขาเข้าและขาออกตลอดอายุสัมปทานนี้” ซึ่งทางยกระดับช่วงนี้เป็นช่วงต่อขยายของดอนเมืองโทลล์เวย์ ระยะทาง 7.1 กิโลเมตร กรมทางหลวงเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างเอง การระบุไว้เช่นนี้เป็นการจูงใจให้ผู้ใช้รถใช้ถนนหันมาใช้ดอนเมืองโทลล์เวย์เพิ่มมากขึ้น นับเป็นการช่วยเหลือเอกชนผู้รับสัมปทานโดยเอกชนไม่ต้องร่วมลงทุนเลย