“กสศ.” เสริมพลังการสื่อสารเข้าใจวัยรุ่นต้องฟังด้วยใจ

กดติดตาม TOP NEWS

"กสศ." เสริมพลังการสื่อสารแก่ "ทีมพี่เลี้ยง" เทคนิคเข้าถึงวัยรุ่น "เยาวชนแรงงาน" ต้องเริ่มต้นที่เข้าใจตัวเองและคนรอบข้างด้วยการฟังด้วยใจ คือ ฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน เปิดใจ และ เห็นอกเห็นใจ

TOP News เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567 โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรม “พัฒนาทักษะชีวิต” ว่าด้วยเรื่อง “การสื่อสารและทำความเข้าใจวัยรุ่น” แก่ “ทีมพี่เลี้ยง” ที่เป็นแกนนำสหภาพแรงงานซันโยแห่งประเทศไทยในโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่เยาวชนนอกระบบการศึกษาจังหวัดปราจีนบุรี ได้นำน้อง ๆ เยาวชนแรงงานที่ทำงานในโรงงาน และ เยาวชนในชุมชน มาร่วมจัดกิจกรรมค้นหาศักยภาพและความต้องการของตนเองด้านทักษะอาชีพเพื่อนำข้อมูลของน้อง ๆ เหล่านี้ ส่งต่อ แก่หน่วยงานในพื้นที่ได้มี “อาชีพเสริม” ระหว่างทำงานประจำในโรงงาน “อาชีพอิสระ” ไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง หรือ ยกระดับฝีมือแรงงานรองรับตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ให้ได้ไปต่อจากการได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ไปพัฒนาตนเองจะได้เป็นกำลังสำคัญในการดูแลครอบครัว และเพื่อต้องการสะท้อนศักยภาพและความต้องการของน้อง ๆ ให้กับวิทยากรจิตวิทยาเข้าใจวัยรุ่นของ “กสศ.” ที่มาให้ความรู้ได้เข้าใจเยาวชนนอกระบบการศึกษาในบริบทสังคมโรงงาน

ทั้งนี้ “กสศ.” มีความประสงค์ให้ “ทีมพี่เลี้ยง” ได้มีเครื่องมือในการสื่อสารเสริมพลังเพื่อทำความเข้าใจวัยรุ่น เทคนิคการเป็นพี่เลี้ยง การเรียนรู้ การฟัง การตั้งคำถาม การสรุปประเด็น และ การทวนความ โดยวิทยากร นางสาวลวลัย แย้มมาลี หรือ โค้ชดล เปิดเผยว่าสิ่งสำคัญ คือ เริ่มต้นเราต้องเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง โดย “โค้ชดล” ให้ทีมพี่เลี้ยง และ น้อง ๆ แนะนำตัวเองด้วยการเปรียบเทียบตัวเองเป็นสัตว์อะไรก็ได้ที่ตัวเองชื่นชอบ หรือ คิดว่ามีลักษะนิสัยเหมือนตนเอง พร้อมกับให้เหตุผล

จากนั้นได้นำภาพมาเปรียบเทียบ ระหว่าง “หมอ” กับ “เด็กแว้น” มีความแตกต่าง คือ หมอ สังคมมองว่าเป็นอาชีพช่วยเหลือผู้อื่น ขณะที่ เด็กแว้นถูกมองว่าไม่ดีสร้างความรำคาญแก่สังคม แต่ทุกคนมีศักยภาพ เพียงต้องเปิดใจเรียนรู้ และ เปลี่ยนมุมมอง ให้โอกาส เพราะคนเราปรับเปลี่ยนกันได้ ให้อภัยเพราะทุกคนทำดีที่สุด และ ไม่ตัดสิน เพราะทุกคนมีศักยภาพภายในตัวเอง เช่นเดียวกับน้อง ๆ เยาวชนแรงงาน บางกลุ่มที่มีศักยภาพและความต้องการ เป็นนักธุรกิจ ช่างเชื่อม ทำน้ำปั่น ทำขนมไทย หรือ ขายของออนไลน์ สามารถทำให้ประสบความสำเร็จตามที่ตัวเองตั้งใจได้

จากนั้น “โค้ชดล” ให้ทุกคนกำหนดนิยามคุณสมบัติของตัวเองที่โดดเด่น โดยน้อง ๆ และ ทีมพี่เลี้ยง แต่ละคนให้นิยามแตกต่างกันไป อาทิ เสียสละ , แบ่งปัน ,ช่วยเหลือผู้อื่น , คนสู้ชีวิต , อดทน , ขยัน และ มองโลกแง่ดี เป็นต้น พร้อมกับแนะนำเทคนิคการสื่อสาร องค์ประกอบของการสื่อสารที่สำคัญที่สุดในการเข้าหาคนรอบข้าง คือ “ภาษากาย” มีสัดส่วนสำคัญถึง 55% เป็นเหมือนประตูบานแรกที่จะทำให้คนรอบข้างเปิดใจ หรือ ปิดใจ ตัวอย่างเช่นประโยคเดียวกันแต่ใช้ภาษากายแตกต่างกัน ย่อมได้รับผลลัพธ์ที่ต่างกัน ระหว่างแง่บวก หรือ แง่ลบ ถัดไปเป็น น้ำเสียง 38% และ คำพูด 7% เมื่อเวลาเข้าหาคนที่เราอยากรู้จักด้วย ภาษาท่าทาง น้ำเสียง สีหน้าแววตา จะบ่งบอกว่าภายในใจเราคิดเช่นไร

ต่อด้วยให้น้อง ๆ กับ ทีมพี่เลี้ยงจับคู่ นั่งหันหน้าเข้าหากันเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่ง พูด และ อีกฝ่ายหนึ่ง ฟัง ด้วยการฟังด้วยใจ คือ ฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน เปิดใจ และเห็นอกเห็นใจ พร้อมกับเปิดคลิป เติมพลังบวก ด้วยการดูชีวิต แม่ลัดดา อารีย์วงษ์ วัย 60 ปี แม่ของ “บุญรอด” คู่หูยูทูบเบอร์ LGBT จากช่อง poocao channel ซึ่งลูกถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่ตับตั้งแต่แรกเกิด เมื่อลูกเกิดมาพิการ และเป็น LGBT จนวันหนึ่งกลายเป็น ยูทูบเบอร์ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ คลิปดังกล่าวที่ “โค้ชดล” ต้องการสื่อสารให้น้อง ๆ ได้คิดว่า เราเลือกชีวิตได้ และ วิธีคิด คือ หางเสือ จะนำพาตัวเราให้ประสบความสำเร็จ หรือ ผ่านปัญหาขวากหนามชีวิตไปได้ เหมือนกับ แม่ของ “บุญรอด”

นอกจากนี้ได้จัดกิจกรรมทำแบบสอบถาม “วงล้อชีวิต” เพื่อนำไปสู่การจัดระบบชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นด้วยการให้คะแนนตัวเองเพื่อประเมินตัวเอง 8 ด้านชีวิตของตัวเอง ดังนี้ 1.งานธุรกิจ 2.การเงิน 3.สุขภาพ 4.ครอบครัว 5.ความรัก 6.การเติบโต 7.การพักผ่อน และ 8.สภาพแวดล้อม เพื่อนำไปสู่ สิ่งที่ตัวเรา ควรจะ “เริ่มทำ” อาทิ พัฒนาตัวเอง , พักผ่อน , มีเงินเก็บ , มีเวลาให้กับครอบครัว หรือ ควรจะ “หยุดทำ” อาทิ หยุดเป็นคนเจ้าอารมณ์ , เสพติดโทรศัพท์ , กินอาหารไม่มีประโยชน์ , เที่ยวเตร่ , ซื้อของที่ไม่จำเป็น หรือ ขี้เกียจ เป็นต้น

นอกจากนี้ ทีมหนุนเสริมวิชาการภาคกลาง ชี้แจงทำความเข้าใจการใช้เครื่องมือเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงและนิเวศรอบตัวน้อง ๆ เยาวชนแรงงาน เริ่มตั้งแต่ตัวน้อง ๆ ครอบครัว ชุมชน และ สังคม ก่อนและปัจจุบันเข้าร่วมโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น