ดราม่าฉ่ำ หลิน ยู่ถิง จากไต้หวันนักมวยหญิงรายที่ 2 ที่ไม่ผ่านการตรวจคุณสมบัติทางเพศ เตรียมคว้าเหรียญโอลิมปิก
หลิน ยู่ถิง นักมวยสาวชาวไต้หวัน ซึ่งตกเป็นประเด็นการถกเถียงเรื่องเพศสภาพเช่นเดียวกับ อิมาน เคลิฟ นักมวยสาวชาวแอลจีเรีย ได้รับการรับรองคว้าเหรียญโอลิมปิกครั้งนี้อย่างแน่นอน หลังเอาชนะ สเวตลานา สตาเนวาคู่แข่งชาวบัลแกเรียในรอบก่อนรองชนะเลิศ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้เธอผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ และการันตีว่าจะคว้าเหรียญทองแดงเป็นอย่างน้อย
หลังจากการชกกับหลิน สตาเนวา คู่แข่งชาวบัลแกเรีย ยกมือขึ้นทำสัญลักษณ์ X บนสังเวียน และชี้นิ้วไปที่ตัวเอง บ่งบอกถึงโครโมโซม XX ของผู้หญิง จากนั้นเธอออกจากเวทีโดยไม่จับมือกับคู่ต่อสู้ และปฏิเสธที่จะตอบคำถามจากสื่อ ส่วน บอริสลาฟ จอร์จีฟ โค้ชของสตาเนวา ประณามการแข่งขันครั้งนี้ว่า เป็น การแสดงละครสัตว์ โดยกล่าวหานักมวยไต้หวันว่าเล่นสกปรก
หลินเป็นนักมวยหญิงคนที่สองที่ถูกกล่าวหาว่า มีเพศสภาพเป็นเพศชายโดยกำเนิด ที่ผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศในการแข่งขันโอลิมปิกปารีส ตามติด เคลิฟ ที่ตกอยู่ในประเด็นถกเถียงเดียวกัน ซึ่งสมาคมมวยนานาชาติ(IBA)ได้ออกมาแถลงว่า ได้เคยตัดสิทธิ์นักกีฬาทั้งสองคน จากการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่กรุงนิวเดลีในเดือนมีนาคม 2566 เนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติในการเข้าร่วมการแข่งขันประเภทหญิง ภายใต้ข้อบังคับของสมาคมมวยนานาชาติ ในแถลงการณ์ที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม IBA เน้นย้ำว่า แม้ทั้งคู่จะไม่ได้ผ่านการตรวจฮอร์โมนเพศชาย แต่ต้องผ่านการทดสอบแยกต่างหาก ซึ่งผลชี้ชัดว่านักกีฬาทั้งสองมีความได้เปรียบเหนือนักกีฬาคู่แข่งหญิงคนอื่นๆ
และเมื่อวานนี้ IBA ได้ออกมาแถลงอีกครั้งว่า ทั้งคู่มีผลตรวจโครโมโซม XY ซึ่งเป็นโครโมโซมของเพศชายเป็นบวก ไอโออันนิส ฟิลิปปาโตส อดีตประธานคณะกรรมการการแพทย์ของ IBA และประธานสมาพันธ์มวยแห่งยุโรป กล่าวอย่างชัดเจนว่า ผลการตรวจโครโมโซม 2 ครั้ง แสดงว่าเคลิฟเป็นผู้ชาย
ทั้งนี้ปมขัดแย้งเรื่องเพศสภาพกำลังลุกลามในการแข่งกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีส ตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลัง เคลิฟ เอาชนะแองเจลา คารินี จากอิตาลี ในการต่อสู้ที่กินเวลาเพียง 45 วินาที ส่งผลให้คารินีตะโกนว่า นี่มันไม่ยุติธรรม! และเหตุการณ์ดังกล่าวได้จุดประกายการประณามจากทั่วโลก รวมถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการอนุญาตให้เพศชายโดยกำเนิด ขึ้นชกกับนักมวยหญิงได้
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) กล่าวปกป้องการตัดสินใจให้เคลิฟและหลินขึ้นชก โดยยึดหลักฐานในหนังสือเดินทางที่ระบุว่า ทั้งสองเป็นหญิง และกล่าวหาว่า การเปิดเผยของ IBA เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง