วันนี้ ขอยกเรื่องการโหมกระแสปลาหมอคางดำใครเป็นต้นตอมามองต่างมุม จากการนำเสนอผ่านสื่อที่มีภาพและข้อมูลคล้ายๆ กัน แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีการอะไรต้องทำอย่างโปรงใส ไม่ว่าจะข้อมูลหรือรูปภาพประกอบ จำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องอย่างรอบคอบและรอบด้านที่สุด โดยปราศจากอคติในใจตามหลักจรรยาบรรณที่ดีของการเป็นสื่อมวลชน และควรสื่อสารให้สังคมได้รับทราบข้อมูลตามข้อเท็จจริงและตัดสินใจจากข้อมูลและภาพที่ถูกต้องตามความเป็นจริง
สำหรับกรณีการระบาดของปลาหมอคางดำ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา บริษัทเอกชนที่ถูกพาดพิงในกระแสข่าวอย่าง ซีพีเอฟ ให้ข้อมูลว่า “ซีพีเอฟ พบการใช้ข้อมูลประกอบการสื่อสารในเวทีสาธารณะและสื่อโซเชียลต่างๆ เป็นข้อมูลที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่สังคม และกระทบต่อชื่อเสียงขององค์กรให้ได้รับความเสียหาย เตรียมพิจารณาการดำเนินการขั้นต่อไป พร้อมเตือนประชาชนอย่าเชื่อ อย่าแชร์” โดย กอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุด สายงานกิจการองค์กรของบริษัท ออกมาย้ำว่า มีการใช้รูปภาพและข้อมูลประกอบการสื่อสารบนเวทีสาธารณะที่เป็นเท็จ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567
ในเวทีสาธารณะดังกล่าวมีการใช้รูปภาพและข้อมูลประกอบอันเป็นเท็จรวม 3 รูป พร้อมบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยไม่มีการตรวจสอบ (cross check) ด้วยความรอบคอบ โดยภาพแรกอ้างว่าเป็นภาพบ่อดินของฟาร์มยี่สารที่ใช้เพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำเมื่อปี 2554-2557 และมีการเลี้ยงต่อเนื่องที่ฟาร์มแห่งนี้ตั้งแต่ 2553 ถึง 2560 ซีพีเอฟ ยืนยันว่าสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ฟาร์มยี่สาร ไม่ได้เริ่มดำเนินโครงการและยุติการวิจัยตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2554 พร้อมทำลายลูกปลาทั้งหมดแล้วและไม่มีกิจกรรมใดๆ เกี่ยวกับปลาชนิดนี้
ภาพที่ 2 อ้างว่าเป็นการคัดเลือกไข่ปลาหมอคางดำ เพื่อนำไปขยายพันธุ์/ผสมพันธุ์ แล้วนำไปอนุบาลในกระชังในฟาร์มยี่สาร ความเป็นจริงคือ สถานที่นี้ไม่ใช่ฟาร์มยี่สารและไม่ใช่กระบวนการคัดเลือกไข่ปลาตามวิธีปฏิบัติของบริษัท และภาพที่ 3 เป็นภาพถ่ายทางอากาศแสดงผังของบริเวณฟาร์ม ล้อมกรอบสีแดงระบุเป็นบ่อเลี้ยงปลา ความจริงคือไม่ใช่บ่อเลี้ยงปลาแต่เป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง ขณะที่ล้อมกรอบสีเหลืองที่ระบุว่าเป็นบ่อผสมพันธุ์ปลาและบ่ออนุบาลปลานั้น ความจริงคือเป็นบ่อปรับปรุงพันธุ์ปลานิล ปลาทับทิม และปลาทะเล
ถือเป็นเรื่องปกติ ที่ใครก็ตามที่ถูกกล่าวหาโดยใช้ภาพและข้อมูลเท็จต้องออกมาปกป้องตนเองเพื่อความถูกต้องไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเสียหายของบริษัท ที่อาจเกิดจากความเข้าใจผิดไปกับภาพและข้อมูลเหล่านั้น
กรณีนี้พบว่า ความรับผิดชอบของสื่อที่ใช้ภาพและข้อมูลที่เป็นเท็จ ก็เพียงแค่เอาภาพออกจากเพจส่วนตัว เราท่านคิดว่ารับผิดชอบเพียงพอแล้วหรือไม่ หรือถูกต้องแล้วหรือไม่ ส่วนตัวถ้าไม่มั่นใจหรือไม่ได้ตรวจสอบก็ไม่ควรเผยแพร่ เพราะสุ่มเสี่ยงและไม่สามารถยืนยันความถูกต้องได้ หรือมีแหล่งอ้างอิงที่ได้รับการยอมรับแล้ว หลักฐานและเอกสารเหล่านี้ไม่ควรถูกนำมาใช้
เรื่องนี้ ส่งผลกระทบต่อวงการสื่อ แต่ก็อาศัยความเป็นเพื่อนพ้องกันเลยไม่ต่อว่าหรือทักท้วงกันเอิกเกริก อาจจะสอบถามกันในฐานะเพื่อนฝูงหรือเป็นการภายในองค์กร หรือสื่อบางสำนักอาจไม่เห็นด้วยกับการกระทำแต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก ทำได้คือตรวจสอบของตัวเองอย่างดีไม่ให้เกิดความผิดพลาดหรือนำเสนอข้อความอันเป็นเท็จ แต่ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของวงการสื่อมวลชนให้ถูกจับตามองไปด้วย
สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย หรือ สมาคมสื่อใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้อง ควรร่วมกันพิจารณาเรื่องการใช้ภาพและข้อมูลอันเป็นเท็จนี้เพื่อรักษาความเที่ยงธรรมของสื่อมวลชนไว้ และควรมีการตักเตือนหรือมีบทลงโทษกับสื่อที่ละเลยกฎระเบียบ ให้มีความรับความรับผิดชอบต่อการกระทำมากขึ้น ไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่วงการสื่อ โดยเฉพาะหน่วยงานต้นสังกัดของสื่อที่บิดเบือนข้อเท็จจริงดังกล่าว ควรตรวจสอบจริยธรรมของบุคลากรว่ามีการรักษาและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดหรือไม่ เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของสื่อมวลชนให้คงความน่าเชื่อถือต่อไป
ปาจารีย์ เนินสำราญ นักวิชาการอิสระ