นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์ เรื่อง คัดค้านการขายแผ่นดินให้ต่างชาติยึดครอง ตามที่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมุ่งหมายที่จะแก้ไขกฎหมายที่ดินให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ได้สิทธิ “ถือครองที่ดิน” และยังได้สิทธิทำงานพร้อมวีซ่าตลอดไปในผืนแผ่นดินไทยได้ในระยะยาว โดยไม่ต้องรายงานตัวทุก 90 วัน อีกทั้งยังจะให้สิทธิพิเศษที่จะ “สามารถถือครองห้องชุดและบ้านจัดสรรในโครงการบ้านจัดสรรในพื้นที่ที่กำหนด” ได้อีกด้วยนั้น มติดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นมติอัปยศที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสิ้นไร้ความสามารถที่จะแสวงหารายได้เข้าแผ่นดิน โดยใช้ข้ออ้างแบบกำปั้นทุบดินนั่นคือ การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีความรุนแรง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP และการลงทุนภายในประเทศลดลงอย่างมาก ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คลี่คลายลง จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจ
แถลงการณ์ระบุอีกว่า แนวคิดและมติดังกล่าว ไม่ได้สอบถามเจ้าของประเทศที่แท้จริงเลยว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ และไม่คำนึงเลยว่า การให้ชาวต่างชาติมายึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอย่างถาวรนั้น จะกระทบต่อพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศอย่างมากมายในระยะยาว ทั้งๆที่ประเทศไทยเคยมีประสบการณ์การแก้ไขกฎหมายขายชาติจำนวน 11 ฉบับมาก่อนหน้านี้เมื่อคราวเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งราวๆปี 2540 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้คนไทยจำนวนมากต้องน้ำตาตกใน ต้องสูญสิ้นทรัพย์สินอาคารให้กับชาวต่างชาติมากมาย รวมทั้งสถาบันการเงินต่างๆที่ปัจจุบันกว่าร้อยละ 60 ต้องถูกชาวต่างชาติยึดครอง
และหากเราปล่อยให้รัฐบาลใช้อำนาจโดยย่ามใจแก้ไขกฎหมายเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนต่างชาติโดยไม่มีขอบเขตจำกัดเยี่ยงนี้ อนาคตลูกหลานไทยก็จะเป็นได้แค่กรรมกร คนรับใช้ ไม่มีที่ดินทำมาหากินเป็นของตนเอง หากแต่จะสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติได้ ก็จะต้องไปขอเช่าที่นายทุนต่างชาติทำมาหากิน และที่จะเจ็บช้ำมากยิ่งไปกว่านั้น หากนายทุนต่างชาติปักป้ายในที่ดินที่เขายึดครองว่า “ห้ามคนไทยและสุนัขเดินผ่าน” รัฐบาลจะตอบคำถามนี้ต่อคนไทยทั้งชาติได้อย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.178 ประกอบ ม.3 และม.25 ม.26 สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงใคร่เรียกร้องให้รัฐบาลใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ม.166 ดำเนินการให้มีการทำประชามติ เพื่อขอฉันทามติจากประชาชนเจ้าของประเทศในเรื่องดังกล่าวเสียก่อนเท่านั้น หากยังเห็นว่าอำอาจอธิปไตยเป็นของประชาชนจริง