ปลาหมอคางดำ กินได้ ให้โปรตีน เป็นอีกวิธีช่วยกำจัดที่เห็นผล

กดติดตาม TOP NEWS

นักกำหนดอาหาร แนะ ปลาหมอคางดำ กินได้ ย่อยง่าย ไขมันน้อย ให้โปรตีน ชี้การนำมารับประทานเป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยกำจัดที่ได้ผล และเป็นการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า

นางสาวอารยา เสรีวิสุทธิพงศ์ นักกำหนดอาหาร โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าในขณะนี้ ปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่แพร่พันธุ์ได้รวดเร็วและรุกรานสัตว์น้ำพื้นถิ่นในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทย ซึ่งทุกภาคส่วนกำลังร่วมด้วยช่วยกันกำจัดตามวิธีการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเร่งจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำให้ได้ไวที่สุด และลดปริมาณปลาดังกล่าวให้ได้มากที่สุด ซึ่งปลาหมอคางดำที่จับมาได้สามารถนำไปสร้างมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้หลายอย่าง เช่น หมักเป็นปลาร้า ปลาป่น ปลาตากแห้ง นอกจากนำมาดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปแล้ว ยังสามารถนำปลาหมอคางดำมาประกอบอาหารรับประทานได้ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทุกคนสามารถมีส่วนช่วยสนับสนุนมาตรการกำจัดปลาดังกล่าวได้และเห็นผล

ปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่กินได้ ทำเป็นอาหารได้ ไม่เป็นอันตราย มีสารอาหารประเภทโปรตีน เหมือนปลาชนิดอื่นๆ ปลาเป็นเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย ไม่ว่าปลาชนิดใดก็ตาม เนื้อปลาสุก 30 กรัม ให้สารอาหารโปรตีน 7 กรัม

สำหรับปลาชนิดนี้ มีเนื้อน้อย ไขมันน้อยเมื่อเทียบกับปลาที่เพาะเลี้ยง สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารได้หลากหลายเมนูเหมือนปลาทั่วไป ซึ่งเป็นเมนูที่ทุกคนทำได้และดัดแปลงรังสรรค์ให้อร่อยได้ตามรสมือของแม่ครัว อาทิ ปลาหมอคางดำแดดเดียว น้ำพริกปลาป่น ต้มยำ แกงส้ม ฉู่ฉี่ ต้มโคล้ง ปลาฟูคั่วขี้เมา ทั้งนี้ ปลาดังกล่าวอาจมีกลิ่นเฉพาะตัว การใช้เครื่องเทศหรือสมุนไพรปรุงจะช่วยกลบกลิ่นได้ หรือเพิ่มเครื่องปรุงตามสูตรอาหารพื้นถิ่นของแต่ละจังหวัดได้เช่นกัน โดยเมนูต่างๆ ที่กล่าวมา สามารถนำมาเป็นอาหารในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี

นางสาวอารยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกอบอาหารด้วยปลาหมอคางดำสามารถดัดแปลงให้ลงตัวและกินง่ายขึ้น ด้วยการนำเนื้อปลาชนิดอื่นมาผสมให้เหมาะกับเมนูอาหารแต่ละชนิด เช่น เนื้อปลาหมอคางดำ 150 กรัม ผสมกับ เนื้อปลาช่อน หรือปลากะพง 150 กรัม รวมกันได้น้ำหนักของเนื้อปลา 300 กรัม ซึ่งจะทำให้ได้โปรตีน 70 กรัม หากต้องการให้ได้โปรตีนจากเนื้อปลาเพิ่มขึ้น ให้เพิ่มปริมาณน้ำหนักของเนื้อปลาตามที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรคำนึงในการนำปลาหมอคางดำมาปรุงเป็นอาหารเพื่อสุขอนามัยที่ดี ควรพิจารณาเลือกแหล่งที่มาของปลาที่มีความปลอดภัย โดยมาจากจุดรับซื้อที่เชื่อถือได้ หรือ จากจุดรับซื้อของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงการคัดเลือกปลาที่มีความสดใหม่ได้คุณภาพและควรล้างทำความสะอาดปลาทุกครั้งก่อนนำมาประกอบอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ที่สำคัญต้องปรุงให้สุกด้วยอุณหภูมิความร้อนที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น