รัฐประหาร รัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ภายหลังประกาศยุบสภาฯ
การรัฐประหาร “ทักษิณ ชินวัตร” ในครั้งนั้น เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป วันที่ 2 เมษายน 2549 ภายหลัง “นายทักษิณ” ประกาศ ยุบสภาฯ ซึ่งต่อมา การเลือกตั้งครั้งนั้น ถูกสั่งให้เป็นโมฆะ และเหตุการณ์ครั้งนั้น นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญวิกฤตการณ์ทางการเมือง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ สั่งยุบรัฐสภา สั่งห้ามการประท้วงและทำกิจกรรมทางการเมือง ยับยั้งและตรวจพิจารณาสื่อ ประกาศใช้กฎอัยการศึก และจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคน
“พลังประชาชน” ชนะเลือกตั้ง สมัคร สุนทรเวช นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ได้เพียง 7 เดือน
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และครั้งแรกภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำหนดให้มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 “พรรคพลังประชาชน” ที่มี “นายทักษิณ ชินวัตร” ชักใยอยู่เบื้องหลัง ชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย นายสมัคร สุนทรเวช นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2551–9 กันยายน พ.ศ.2551 แต่ก็ดำรงตำแหน่งได้เพียงระยะเวลาแค่ 7 เดือน เพราะทางประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมคณะ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย สิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ของรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่า นายสมัครกระทำการต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 แต่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทว่า ระหว่างที่ นายสมัคร สุนทรเวช นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ก็มีเรื่องให้ต้องกินแหนงแคลงใจกับ “ทักษิณ ชินวัตร” เพราะแว่วว่า สมัครดื้อแพ่ง สั่งอะไรก็ไม่เชื่อ ใช้อะไรก็ไม่ทำ
“สมชาย วงศ์สวัสดิ์” น้องเขย “ทักษิณ” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ได้เพียง 3 เดือน
กระทั่งต่อมา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2551–2 ธันวาคม พ.ศ.2551 เพียง 3 เดือน ก็มีอันให้ต้องจบลงอีกครั้ง เพราะในขณะที่ “สมชาย” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เขาไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาลเลย และกลายเป็นนายกฯ คนแรกที่ไม่เคยเข้าทำเนียบ เนื่องจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตั้งม็อบปักหลักยึดพื้นที่ไว้ตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช จนต้องใช้สนามบินดอนเมืองเป็นที่ทำการแทน ยาวไปสู่ความชอบธรรมในการลาออกจากตำแหน่งในที่สุด
ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 27
ต่อมามีกระแสข่าวสะพัดถึงการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร โดยให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการดึงสมาชิกพรรคต่างๆ เข้ามาร่วมรัฐบาล กระทั่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 27 ของประเทศไทย ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2551 หลังศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นผลให้นายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่ง เขาเป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในรอบกว่า 60 ปี ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ.2551−2554
รัฐบาลอภิสิทธิ์ เผชิญการประท้วงใหญ่ในเดือนเมษายน พ.ศ.2552 และเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.2553 มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง และทหาร รวมไปถึงกองกำลังไม่ทราบฝ่ายหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์ชาติไทย ทั้งกลุ่มคนเสื้อแดง และพันธมิตรเจ็บตายหลายชีวิต ก่อนจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่…
“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี คนที่ 28 ของไทย สุดท้ายอยู่ไม่ครบเทอม
ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2554 พรรคเพื่อไทย ได้มีการเสนอชื่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาวแท้ๆ ของ “ทักษิณ ชินวัตร” เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป วันที่ 3 ก.ค. 54 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยชนะขาดลอย และได้เป็นผู้แทนราษฎร ครอง 265 ที่นั่ง นับเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ไทย ที่พรรคการเมืองพรรคเดียวได้รับคะแนนเสียงข้างมากในสภา จากนั้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2554 “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2554
“ยิงลักษณ์” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ของประเทศไทยได้ยังไม่ทันครบ 3 ปี ก็มีอันให้ต้องเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ม็อบขับไล่หลายทิศทางผุดขึ้นมาต่อต้านคัดค้านการทำงานของรัฐบาล ว่าด้วยนโยบายต่างๆ ที่เหมือนจะเป็นจุดบอดให้ถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะคดีจำนำข้าว… ถึงกระนั้นก็ตามที กระแสม็อบต่อต้านตระกูลชินวัตร เกิดขึ้นเป็นระยะๆ แต่ก็จุดไม่ติด จนกระทั่งมีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ล้างโทษความผิดให้ทุกฝั่งฝ่าย เป็นเหตุให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะเหมือนจะเป็นกฎหมายเอื้อเฟื้อช่วยเหลือ ทักษิณ ชินวัตร กลับมาประเทศไทย ม็อบต้านกฎหมายนิรโทษกรรม จุดติด! นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่มแกนนำ กปปส. เชิญชวนหน่วยงานราชการ และคนทั่วประเทศ ร่วมกันล้มล้างระบอบทักษิณ ยาวไปสู่การเรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจคืนประชาชน
ต่อมา “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2556 และให้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากการรักษาการในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2557 เนื่องจากการย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. กดดันขับไล่
ระหว่างนี้เอง ทางกลุ่มผู้ชุมนุม นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่มแกนนำ กปปส. ยังคงเรียกร้องกดดันให้ทางรัฐบาลพรรเพื่อไทยลาออก แต่ทางพรรคกลับประกาศยุบสภาเพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นอีกครั้ง และการเลือกตั้งครั้งนั้นก็ถูกกีดกันโดยกลุ่มผู้ชุมนุมสารพัดทิศทาง การเลือกตั้งวันที่ 16 มกราคม 2557 จึงต้องเป็นโมฆะ ระหว่างนั้นเองการเมืองไทย เหมือนเกิดสุญญากาศ การดำเนินการของรัฐบาลในขณะนั้นไม่สามารถควบคุมบริหารประเทศได้ ควบคู่ไปกับกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงใช้ยุทธวิธีเคลื่อนไหวที่รุนแรงขึ้น
22 พฤษภาคม 2557 “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ทำการรัฐประหาร
ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารที่รอดูท่าทีอยู่ห่างๆ ตัดสินใจก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ รัฐประหารโค่นรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งต้องยอมรับว่าการรัฐประหารดังกล่าวลุกลามบานปลายหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และอิทธิพลของทักษิณ ชินวัตร ในการเมืองไทย
***เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเหล่าตระกูลชินวัตร ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา เพราะไม่ว่าจะได้รับการเลือกตั้งกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ก็มีช่องว่างความผิดพลาดให้ฝ่ายค้านเกิดความชอบธรรมนำมาโจมตี นำสู่การปิดฉากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุกวาระร่ำไป
ส่วนจะเรียกว่าถูกรังแกได้ไหม? เพราะในเมื่อการขับเคลื่อนต่างๆ เกิดขึ้นจากพลังมวลชนของทั้ง 2 ฝ่าย ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ไหนจะแกนนำปลุกระดม สลับกันสร้างความวุ่นวาย เป็นเหตุให้ทหารต้องออกมาทำการรัฐประหาร ยุติความรุนแรง