ภาคี กสศ.สานพลัง สพท.-สสส.พัฒนาการเรียนรู้ “เยาวชนแรงงาน” ไปพัฒนาตนเองจะได้เป็นกำลังสำคัญดูแลครอบครัว

กดติดตาม TOP NEWS

ภาคี กสศ.สานพลัง สพท.-สสส. ส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ "เยาวชนแรงงาน" พัฒนาทักษะช่างเชื่อมโลหะตู้เย็นและแอร์รองรับจ้างงานภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ หวังช่วยให้ได้เรียนรู้ทักษะ 30 ชม.และมีวุฒิบัตรเป็นใบเบิกทางไปสมัครงานโรงงาน หรือ ได้รับรายได้ตามศักยภาพและทักษะฝีมือแรงงานหลุดพ้นค่าแรงขั้นต่ำ พร้อมดึงเยาวชนแรงงานมาตรา 35 ร่วมเรียนรู้เตรียมพร้อมก่อนจะได้ทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเองเป็นกำลังสำคัญดูแลครอบครัว

TOP News โครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่เยาวชนนอกระบบการศึกษาจังหวัดปราจีนบุรี ภายใต้การสนับสนุนโดยโครงการพัฒนาการเรียนรู้เยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมกับนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) ในฐานะประธานโครงการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสิทธิและสุขภาพในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , สหภาพแรงงานซันโยแห่งประเทศไทย และ วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี จัดกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้ยกระดับฝีมือแรงงานแก่เยาวชนนอกระบบการศึกษาในบริบทสังคมโรงงานที่เป็นเยาวชนแรงงานให้ได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ไปพัฒนาตนเองจะได้เป็นกำลังสำคัญในการดูแลครอบครัว

ทั้งนี้สืบเนื่องจาก “เยาวชนแรงงาน” เป็นแรงงานที่ไม่มีความมั่นคงด้านรายได้และอาชีพ จึงควรส่งเสริมโอกาสการพัฒนาการเรียนรู้ให้ได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพ 3 เรื่องสำคัญ ดังนี้ 1. “อาชีพเสริม” ระหว่างทำงานประจำในโรงงาน เนื่องจากรายได้จากค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาทต่อวันหรือค่าล่วงเวลาไม่แน่นอนจึงไม่เพียงพอต่อการดำชีพ 2. “อาชีพอิสระ” ให้ไปเรียนรู้ด้วยตัวเองเผื่อไว้เป็นอาชีพสำรองหากต้องถูกออกจากงาน หรือ มีความมุ่งมั่นมากพออาจเลิก “อาชีพลูกจ้าง” ไปเป็นนายตัวเองเปิดธุรกิจส่วนตัว และ 3.ยกระดับฝีมือแรงงานรองรับตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมให้ได้รับค่าจ้างตามศักยภาพและทักษะฝีมือหลุดพ้นค่าแรงขั้นต่ำ

สาเหตุที่ต้องส่งเสริมโอการการเรียนรู้แก่น้อง ๆ เหล่านี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ย้ายถิ่นฐานมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาเป็นแรงงานตามฤดูกาลจ้างงานช่วงระยะเวลาสั้นระหว่าง 3 – 6 เดือน ตามสัญญาจ้างของโรงงานที่นายจ้างมีสิทธิ์จะต่อสัญญา หรือ เลิกสัญญาจ้างเมื่อไรย่อมได้ เพราะเป็นแรงงานเหมาช่วง หรือ ลูกจ้างซับคอนแทรค เมื่อถูกเลิกจ้างจำต้องออกจากงานกลับบ้านเกิดในต่างจังหวัด , บางส่วนย้ายไปหางานทำในโรงงานแห่งใหม่ หรือ บางส่วนตกงาน ยิ่งน้องๆที่เป็นแรงงานกึ่งหรือไร้ทักษะและวุฒิการศึกษาต่ำจึงไม่มีความมั่นคงทางรายได้และอาชีพลูกจ้าง ดังนั้นการพัฒนาการเรียนรู้ทักษะอาชีพแก่เยาวชนแรงงานมาตรา 33 หรือ ไม่ได้อยู่ในมาตรา 33 ว่างงาน ด้วยการพัฒนาการเรียนรู้ทักษะอาชีพเสริม อาชีพอิสระ และ ยกระดับฝีมือแรงงาน ต้องทำอย่างเร่งด่วนในระยะเวลาอันสั้น ภายใน 3 – 6 เดือนภายหลังค้นพบน้อง ๆ เยาวชนแรงงาน

เบื้องต้นการพัฒนาการเรียนรู้ ต้องค้นหาศักยภาพและความต้องการเป็นอันดับแรก จัดกิจกรรมโดยภาคี กสศ. จากนั้นประสานภาคีความร่วมมือในพื้นที่เข้ามาพัฒนาการเรียนรู้ตอบโจทย์ อาชีพเสริม อาชีพอิสระ และ ยกระดับฝีมือแรงงาน ดั่งเช่นน้อง ๆ กลุ่มนี้ที่ต้องการการหนุนเสริม “ทักษะช่างเชื่อมโลหะ” แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.น้อง ๆ ที่ยังไม่มีงานทำว่างงาน หากได้รับการเรียนรู้ทักษะช่างเชื่อมและมีใบวุฒิบัตร อาจนำไปเป็นใบเบิกทางสมัครงานโรงงาน 2.น้อง ๆ กลุ่มที่ทำงานอยู่ในโรงงานอยู่แล้ว แต่ต้องการนำใบวุฒิบัตรไปเป็นใบเบิกทางเพื่อร้องขอให้หัวหน้างาน หรือ นายจ้าง เพิ่มค่าจ้างตามศักยภาพและทักษะฝีมือหลุดพ้นการได้รับรายได้เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ และ 3.น้อง ๆ ที่เป็นเยาวชนแรงงานมาตรา 35 เพราะน้อง ๆ เหล่านี้มีปัญหาหลากหลายและซับซ้อน และมีปัญหาศักยภาพทางร่างกายไม่เอื้ออำนวย หรือ ไม่มีงานทำความต้องการของครอบครัว คือ อยากให้ลูกออกจากบ้านไปเข้าสังคมภายนอกและมีงานทำจะได้พึ่งพาตนเองได้

ทั้งนี้ทางภาคี กสศ. ได้ประสานไปยัง ฝ่ายส่งเสริมการมีงานทำ สำนักงานจัดหางานจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือด้วยการจัดหางานให้ทำที่ใกล้บ้าน ประจวบเหมาะกับโครงการฯ กสศ.ร่วมกับ สพท. และ สสส.ร่วมกันจัดฝึกอบรมช่างเชื่อมโลหะแก่เยาวชนแรงงาน วิทยากรโดยแผนกช่างเชื่อมโลหะ วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี ระหว่างวันที่ 11 ส.ค.- 1 ก.ย.2567 (เฉพาะวันอาทิตย์) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทั้งด้านการฝึกอบรมทักษะอาชีพให้ได้รับวุฒิบัตร 30 ชั่วโมง โดยทีมพี่เลี้ยงสหภาพแรงงานซันโยแห่งประเทศไทยจะให้ความรู้ความเข้าใจการพัฒนาทักษะการเข้าสังคมและการสื่อสารไปพร้อมกันด้วย แนวทางดังกล่าว ทางโครงการฯ กสศ. กับทีมพี่เลี้ยง คาดหวังว่าจะสร้างความยั่งยืนในการช่วยเหลือสนับสนุน ด้วยการพัฒนาการเรียนรู้ให้น้อง ๆ ได้มีศักยภาพและสามารถพึ่งพาตนเองได้จากการมีงานทำและมีทักษะเข้าสังคม

ระหว่างน้อง ๆ ได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพ ฝึกอบรม 30 ชั่วโมงเรียนเฉพาะวันอาทิตย์ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ และ ได้รับใบรับรองวุฒิบัตร จะได้รับการพัฒนาทักษะที่หลากหลาย (Multi Skills) จากผู้มีความรู้มาแนะแนวทางฉุดให้หลุดพ้นกับดักค่าแรงขั้นต่ำและเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาการจ้างงานในอนาคต อาทิ แนวโน้มการใช้ Automation และการจ้างแรงงานข้ามชาติมากขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อแรงงานไทย เป็นต้น เพราะปัญหาเยาวชนที่ทำงานในโรงงาน หรือ เยาวชนที่อาศัยในชุมชนโดยรอบโรงงาน มีปัญหาร่วมกันคือ ปัญหาความมั่นคงทางรายได้ กล่าวคือ รายได้ไม่สอดคล้องกับค่าจ้างขั้นต่ำ ทักษะ ประสบการณ์ และค่าครองชีพ เป็นต้น

ดังนั้นการสนับสนุนของโครงการฯ กสศ. คาดหวังว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาหลุดพ้นจากค่าแรงขั้นต่ำให้ได้รับรายได้ตามศักยภาพตามทักษะฝีมือแรงงานจากแรงงานไร้หรือกึ่งทักษะได้รับค่าแรงขั้นต่ำเพียง 350 บาทต่อวัน เป็นแรงงาน “มีทักษะ” ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ หรือน้อง ๆ ที่ประสบปัญหาว่างงานให้ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีวุฒิบัตรทักษะอาชีพเพื่อนำไปเป็นใบเบิกทางไปเพิ่มค่าจ้างตามศักยภาพและทักษะฝีมือแรงงานหลุดพ้นค่าแรงขั้นต่ำ , มีทักษะติดตัวใช้ในการประกอบอาชีพอิสระ หรือ จะไปสมัครทำงานโรงงาน เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น