ปลาหมอบัตเตอร์-ปลาหมอมายัน “ปลาต้องห้าม” พบได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ไร้คนนำเข้า

ปลาหมอบัตเตอร์-ปลาหมอมายัน "ปลาต้องห้าม" พบได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ไร้คนนำเข้า

ผ่านไป 14 ปี จนถึงวันนี้ ปลาหมอคางดำ (Sarotherodon malanotheron) ถูกสังคมพิพากษาว่าเป็นปลาวายร้ายไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งที่ปลาชนิดนี้ไม่ใช่ปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Alien Species) เพียงชนิดเดียวที่พบในประเทศไทย แต่ยังมีปลาชนิดอื่นที่พบอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และมีลักษณะทางกายภาพใกลัเคียงกัน เช่น ปลาหมอบัตเตอร์ ปลาหมอมายัน ปลาหมอมาลาวี รวมถึงปลาดุกรัสเซีย ปลาดุกบิ๊กอุย จนถึงปลาปิรันย่า เป็นต้น ที่ยังพบอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่อยู่ในความสนใจเพราะหาคนนำเข้าไม่เจอ

ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงพ.ศ.2561 สำหรับสัตว์น้ำ 3 ชนิด ได้แก่ ปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2561นั่นก็หลังจากที่บริษัทเอกชนได้รับอนุญาตจากกรมประมงให้นำเข้าปลาหมอคางดำได้เพียงรายเดียวตั้งแต่ปี 2549 แม้จะไม่ได้นำเข้าทันที แต่ก็มีการนำเข้าในปี 2553 จนกลายเป็นเรื่องถกเถียงกันในวันนี้

สำหรับปลาอีก 2 ชนิด ที่ห้ามนำเข้าและส่งออก แต่ยังพบแพร่ระบาดในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คลองและแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ ปลาหมอมายันและปลาหมอบัตเตอร์ และยังพบอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ในช่วงที่มีการจัดกิจกรรมจับปลาหมอคางดำ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ในเมื่อปลาทั้ง 2 ชนิด ถูกห้ามนำเข้า เหตุใดจึงพบการแพร่ระบาดในประเทศไทยได้

ปลาต้องห้าม

ข่าวที่น่าสนใจ

หากตรวจสอบข้อเท็จจริงจะพบว่าปลาหมอมายัน (Mayan cichlid) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mayaheros urophthalmus (Günther, 1862) เป็นปลาพื้นเมืองในแถบอเมริกากลาง ลักษณะลำตัวมีแถบสีดำ 7 แถบ มีจุดสีดำเด่นอยู่ที่บริเวณโคนหาง ตัวเต็มวัยมีขนาด 8-22 เซนติเมตร น้ำหนักสูงสุดประมาณ 600 กรัม และยังขยายเผ่าพันธุ์เข้าไปบุกฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ในปี 2526 และพบเข้ามารุกรานในประเทศไทยครั้งแรกในปี 2548 โดยจับได้จากคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตบางขุนเทียน (ก่อนที่กรมประมงประกาศห้ามนำเข้า-ส่งออกปลาชนิดนี้) และปลานี้เติบโตได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย ทนต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางทะเล กินปลาขนาดเล็กและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหาร มีนิสัยดุร้ายและหวงถิ่น ล่าสุดพบในบ่อเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรในจังหวัดสมุทรปราการ กินกุ้งและสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง ทำให้จับกุ้งได้ลดลง

ส่วนปลาหมอบัตเตอร์ ชื่อวิทยาศาสตร์: Heterotilapia buttikoferi) ชื่อสามัญ Zebra tilapia, Zebra cichlid เป็นปลาน้ำจืดรูปร่างคล้ายปลานิล ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) มีขนาดใหญ่ มีสีสันลวดลายสวยงาม ลำตัวเป็นเส้นขีดสีคล้ำพาดขวางตลอดทั้งตัว สามารถปรับเปลี่ยนสีได้ตามอารมณ์และสภาวะแวดล้อมมีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 40 เซนติเมตร มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาแถบตะวันตก มีนิสัยค่อนข้างดุร้าย ก้าวร้าว และพบในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2546 ที่อ่างเก็บน้ำในเขื่อนสิริกิตต์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยชาวประมงในพื้นที่ กล่าวว่า จับปลาในเขื่อน 100 ตัว จะเป็นปลาหมอบัตเตอร์ 10-20 ตัว ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยจับได้น้ำหนักถึง 2 กิโลกรัม ที่สำคัญปลาหมอบัตเตอร์เข้าไปแทนที่ปลาพื้นถิ่นดั้งเดิมทำให้ปลาแรดและปลาช้างเหยียบหายไป

จากข้อมูลดังกล่าวเห็นได้ว่า ปลาหมอมายันและปลาหมอบัตเตอร์ เป็นปลาต่างถิ่นห้ามนำเข้า-ส่งออก และไม่ปรากฎว่ามีการขออนุญาตนำเข้าจากกรมประมงแม้แต่รายเดียว เหตุใดจึงมีการระบาดในประเทศไทยได้ และยังพบอีกว่าปลาทั้ง 2 ชนิด มีการรุกรานในไทยก่อนมีการนำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามาในประเทศ จึงมีการสันนิษฐานกันว่าเป็นการนำเข้ามาเลี้ยงหรือเพาะเลี้ยงเป็นปลาสวยงามและเมื่อไม่ต้องการเลี้ยงต่อ ก็นำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ และปลามีการขยายพันธุ์ต่อเนื่องจนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ

อย่างไรก็ตาม ทั้งปลาหมอบัตเตอร์และปลาหมอมายัน ไม่ได้ถูกจับตาใกล้ชิดหรือแม้แต่เฝ้าระวังการแพร่ระบาดด้วยไม่เคยมีการขออนุญาตนำเข้าจึงไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ ต่างจากปลาหมอคางดำที่มีขออนุญาตนำเข้าถูกต้องตามกฎหมาย เรียกง่ายๆ คือ มีเจ้าภาพเป็นตัวเป็นตน ไม่ได้ล่องหนหรือดำน้ำข้ามทะเลมาเข้าในเขตน่านน้ำของไทยเหมือนปลาหมอบัตเตอร์และปลาหมอมายัน ทำให้ความรับผิดชอบตกไปอยู่ที่ผู้นำเข้า ซึ่งจำเป็นต้องรับฟังจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายตามหลักฐานและข้อเท็จจริงด้วยความยุติธรรม

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีเจ้าภาพนำเข้าสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่นหรือไม่ คนไทยทุกคนมีหน้าที่ต้องเฝ้าระวังและร่วมกันช่วยกำจัดสัตว์ที่อาจจะมีผลกระทบเชิงลบออกจากระบบนิเวศของไทยอย่างรวดเร็ว สำหรับวิธีการกำจัดปลาหมอคางดำแบบเร่งด่วนและมีประสิทธิผลสูงสุดขณะนี้ คือ “เจอ จับ กิน” แม้จะเป็นการรณรงค์เฉพาะหน้าในระยะสั้น แต่ก็มีรายงานจากจังหวัดที่มีการระบาดหนักอย่างสมุทรสาคร ว่าปริมาณปลาลดลงมาก ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่กำลังทำกิจกรรมก็ควรเร่งจับในพื้นที่ที่มีปลาระบาดและป้องกันพื้นที่ที่ยังไม่แพร่ระบาดตามมาตรการที่ภาครัฐแนะนำ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะขึ้นกับสัตว์น้ำพื้นถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนช่วยรักษาความมั่นคงทางอาหารในอนาคต ซึ่งภาครัฐต้องมีการวางแผนแบบบูรณาเพื่อแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมและดำเนินการอย่างเคร่งครัดต่อไป

สินี ศรพระราม นักวิชาการอิสระ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้
"ดีเอสไอ" อนุมัติให้สืบสวนคดี "แตงโม" ปมมีการบิดเบือน บุคคลอื่น-จนท.รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
"พิพัฒน์" นำถก "คบต." ลงมตินายจ้างต้องยื่นบัญชีชื่อต้องการแรงงานต่างด้าว ให้เสร็จใน 13 ก.พ.68
ส่องรายได้ "ดิว อริสรา" หลัง "ไผ่ ลิกค์" เฉลยชื่อดาราดัง ปมยืมเงินปล่อยกู้ โซเชียลจับตา รอเจ้าตัวชี้แจง
ศาลให้ประกันตัว "หนุ่มลูกครึ่งอินเดีย" ขับรถชนไรเดอร์เสียชีวิต ตีวงเงิน 6 แสนบาท คุมเข้มใส่กำไล EM ภรรยาผู้ตาย ลั่นไม่ให้อภัย
ทบ.ขานรับนโยบายปราบยาเสพติด เพิ่มทหาร 6 กองกำลัง วัดเคพีไอ 10 กพ.-10 มิ.ย.
ซีพีเอฟ ซีพี-เมจิ ร่วมหนุนสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ "รวมพลังสร้างเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย”
สละเรือแล้ว! "ผบ.อิสราเอล" ยื่น "ลาออก" เซ่นเหตุ 7 ต.ค. ไล่แทงกันในเทลอาวีฟเจ็บ 5
สุดปัง “นายกฯ” สวมกระโปรงผ้าปาเต๊ะ ร่วมประชุม WEF

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น