สพฐ. พัฒนาครู DLTV ทำวิจัยในชั้นเรียน สร้างคุณภาพผู้เรียนทุกห้องเรียน

กดติดตาม TOP NEWS

วันที่ 19 สิงหาคม 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการพัฒนาครูมืออาชีพสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ผ่านการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV)” โดยมีศึกษานิเทศก์และครูแกนนำจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 366 คน เข้าร่วม ณ ห้องรัตนาธิเบศร์ โรงแรมนนทบุรีพาเลซ จังหวัดนนทบุรีสำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ เพื่อให้ครูและศึกษานิเทศก์สามารถนำกระบวนการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน ไปใช้พัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ และพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีทางไกล (DLTV) ทั่วประเทศ โดยครูผู้สอน ทำการศึกษาวิเคราะห์ แสวงหาข้อมูลหรือพยายามดึงปัญหาในการเรียนการสอนออกมา และแสวงหาวิธีการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยกระบวนการที่เชื่อถือได้ แล้วนำผลที่ได้ไปแก้ปัญหาหรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่กำลังดำเนินการอยู่ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเกี่ยวข้องและมีความสำคัญในการประกอบวิชาชีพครูเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากครูจำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตร วิธีการจัดการเรียนรู้ การสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเรียน การพัฒนาคุณลักษณะและพฤติกรรมอันพึงประสงค์ของผู้เรียน การเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งโรงเรียนที่ใช้ DLTV จะได้รับโอกาสจากครูตรงเอก ในการพัฒนาทั้งครูและเป็นสื่อที่มีชีวิตกับนักเรียน ดำเนินการโดยมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีโรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นโรงเรียนต้นทาง ซึ่งในการใช้ความรู้จากการอบรมนี้ จะทำให้เด็กได้รับการเติมเต็มเป็นรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และครูมีเวลาในการสังเกตพฤติกรรมในการเรียนรู้ของนักเรียนได้

โอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า การเรียนรู้กระบวนการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนนี้ตรงกับงานในหน้าที่ของพวกเรามากที่สุด และตรงกับการเก็บผลงานของเราเอง ซึ่งไม่ใช่การเก็บเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการสร้างความภาคภูมิใจในอาชีพของตนเองได้อย่างดีที่สุดด้วย อยากให้ทุกคนเก็บเกี่ยวความรู้ตรงนี้ให้มากที่สุด เพราะมีประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้หากเราร่วมมือกัน สิ่งที่เรายังขาดในการดำเนินงานคือการเชื่อมโยงระหว่างกัน การที่เราเป็นตัวแทนจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศแล้วมาเล่าเรื่องราวของเราในห้องนี้ เข้ามาเติมเต็มและพัฒนาเพื่อให้เป็นระบบ และทำให้ระบบตรงจุดนี้กลายเป็นคลังความรู้ที่สำคัญในการปฏิบัติได้ เราจะกลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ใหญ่มาก และจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันสร้างตำนานให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งในแต่ละความแตกต่างตรงจุดนี้จะเข้ามาเติมเต็ม ผสมผสาน และได้เทคนิคที่แตกต่างกันไป ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้จริงในโรงเรียนทั่วประเทศ

“ทั้งนี้ ให้ยึดหลักว่าเด็กไม่จำเป็นต้องประเมินเหมือนกัน แต่ต้องคงคุณภาพและมีมาตรฐาน เพราะเด็กแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน แต่มีเป้าหมายเหมือนกันคือการไปให้ถึงเส้นชัย ดังนั้นอยู่ที่ครูจะเลือกใช้เครื่องมือแบบไหนที่จะพาเด็กไปให้ถึงเส้นชัยได้ อีกทั้งเด็กในยุคนี้มีความสุขเป็นที่ตั้ง ซึ่งต้องเป็นความสุขที่มีคุณภาพด้วย เพราะสิ่งที่ทำให้เด็กลงมือทำแล้วจำได้อย่างยั่งยืน และติดตัวเขาไป ไม่ใช่การยัดเยียดเนื้อหา แต่เป็นการแสวงหาที่เด็กอยากรู้ด้วยตัวเขาเอง ด้วยความสุขที่เขาอยากจะเรียนรู้ เมื่อเขานำไปใช้ในชีวิตจริงก็จะกลายเป็น Literacy หรือความฉลาดรู้ ที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เอามาเปรียบเทียบได้ สังเคราะห์ได้ นำไปสู่การสร้างสรรค์ หรือ Create ได้ นี่คือการยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น