เทเลอร์ สวิฟต์ นักร้องนักแต่งเพลงชาวอเมริกันระดับโลก ยังไม่เคยประกาศว่าศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปีนี้ เธอรับรองผู้สมัครคนใด แต่เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แชร์ภาพบนบัญชี “ทรูธ โซเชียล” แพลตฟอร์มโซเชียลของเขา ที่ทำให้เข้าใจว่า ซูเปอร์สตาร์เพลงป๊อป และแฟนๆของเธอ ที่เรียกกันว่า สวิฟตี้ รับรองตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว โดยภาพที่ทรัมป์โพสต์ เป็นภาพที่สวิฟต์สวมชุดลุงแซม มีข้อความบอกให้แฟน ๆ โหวตเลือกทรัมป์ และทรัมป์ก็เขียนว่า “ผมขอน้อมรับ” (I accept!)
นอกจากนี้ ยังมีภาพสาว ๆ สวมเสื้อยืดพิมพ์ข้อความว่า “Swifties for Trump” และมีข้อความกำกับภาพ ว่า “เหล่าสวิฟตี้หันมาสนับสนุนทรัมป์ หลังจากกลุ่มไอเอสล่มคอนเสิร์ต เทย์เลอร์ สวิฟต์” ทั้งที่บนหัวข้อความนี้ก็มีคำบอกให้รู้ว่าเป็นการ “เสียดสี” หรือ แซทไทร์ (SATIRE ) อยู่เห็น ๆ
ก่อนหน้านี้ สวิฟต์ต้องยกเลิกคอนเสิร์ต 3 รอบที่กรุงเวียนนา หลังทางการออสเตรียจับวัยรุ่นอายุ 19 ปี ที่มีแผนโจมตีงานคอนเสิร์ตโดยได้แรงบันดาลใจจากกลุ่มไอเอ
ฮานี ฟาริด ผู้เชี่ยวชาญนิติวิทยาดิจิทัล มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ บอก AFP ว่า ภาพสวิตฟ์ในรูปแบบโปสเตอร์ ใช้เอไอสร้าง หรือตัดต่อธรรมดา ๆ สิ่งที่ทำให้ดูไม่น่าไว้ใจเป็นพิเศษก็คือ การผสมผสานภาพจริงกับภาพปลอม มีภาพผู้หญิงสวมเสื้อยืดอย่างน้อยหนึ่งภาพ ที่น่าจะเป็นภาพจริง
โพสต์ของทรัมป์ ถูกแฟนคลับของเทยเลอร์ สวิฟต์ ล้อเลียน และตำหนิอย่างหนัก บางคนถึงกับเรียกร้องให้ศิลปินดำเนินคดีทางกฎหมายกับอดีตประธานาธิบดี ขณะที่ เอ.เจ.เดลกาโด อดีตที่ปรึกษาทีมหาเสียงของทรัมป์ในการเลือกตั้ง 2016 เขียนบน X ว่า “จะปล่อยไปแบบนี้โดยไม่แก้ไขหรือ”
สวิฟต์ ยังไม่มีความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับการโพสต์ภาพปลอมของทรัมป์ที่ทำให้เข้าใจผิด
พลังจากฐานแฟนคลับของสวิตฟ์ เป็นการสนับสนุนที่มีความหมาย หากเทไปทางผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง เมื่อครั้งที่เธอเรียกร้องให้แฟน ๆ ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งผ่านเวบไซต์ Vote.org เมื่อปีที่แล้ว ผลตามมาคือมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์รายใหม่กว่า 3 หมื่น 5 พันคน เพิ่ม 23% จากปี 2023 และมากที่สุดนับจากปี 2020 แต่ศิลปินดังสงวนท่าทีในเรื่องความโน้มเอียงทางการเมือง การขยับแต่ละครั้ง มักทำให้เธอตกเป็นเป้าการปล่อยข่าวบิดเบือนทางการเมือง และทฤษฎีคบคิดของพวกขวาจัด
อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งก่อน เธอสนับสนุน โจ ไบเดน กับ กมลา แฮร์ริส และเคยวิจารณ์ทรัมป์ ในสารคดีเผยแพร่ในปี 2020
แฟน ๆ ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ และองค์กรจับตา ระบุว่า ภาพมากมายที่ทรัมป์นำมาแชร์ ดูเหมือนเป็นดีปเฟ้ก สร้างจากเอไออย่างแนบเนียน มีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้รัฐบาลกลางออกกฎหมายและมาตรการต่อสู้กับภาพปลอมจากเอไอ “พับบลิค ซิติเซ่น” องค์กรผู้บริโภค ระบุว่าโพสต์ของทรัมป์ เป็นอีกตัวอย่างของพลังการสร้างข่าวปลอมของเอไอ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสังคม รวมถึงปั่นกระแสการเลือกตั้งด้วย