7 มาตรการรัฐ งบประมาณ 450 ลบ. แก้ปัญหาปลาหมอคางดำอย่าหลงทาง

กดติดตาม TOP NEWS

แม้คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติให้ใช้งบประมาณของกรมประมง 450 ล้านบาท ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำภายใต้ 7 มาตรการ ใน 19 จังหวัด หลังงบประมาณ 50 ล้านบาท จากการยางแห่งประเทศไทยเพื่อการรับซื้อปลาหมอคางดำ วงเงินถูกใช้ไปหมดเรียบร้อย ทั้งที่ปลายังระบาดในอีกหลายจังหวัด และจะส่งผลต่อการเร่งจับปลาออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงการแก้ปัญหาในภาพรวม รัฐบาลจึงจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสมมาสานต่อโครงการไม่ให้หยุดชะงัก

สำหรับ 7 มาตรการ ของกรมประมงในการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำมีการแบ่งการใช้งบประมาณดังนี้

• มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาดไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน งบประมาณ 100 ล้านบาท

• มาตรการที่ 2 การปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่องตามความเหมาะสมของแหล่งน้ำ ไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัว งบประมาณ 50 ล้านบาท

• บาท มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน งบประมาณ 80 ล้านบาท

• มาตรการที่ 4 การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน งบประมาณ 10 ล้านบาท

• มาตรการที่ 5 สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ งบประมาณ 10 ล้านบาท

• มาตรการที่ 6 การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ งบประมาณ 100 ล้านบาท

• มาตรการที่ 7 การฟื้นฟูระบบนิเวศ ให้มีจำนวนสัตว์น้ำประจำถิ่นที่ปล่อยลงในแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัว และแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำประจำถิ่นได้รับการฟื้นฟูไม่น้อยกว่า 16 แห่ง งบประมาณ 100 ล้านบาท

ช่วงที่ผ่านมา สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำหลายสถาบันการศึกษา ย้ำว่า การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำต้องทำอย่างเป็นระบบและครบวงจร โดยมุ่งไปที่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งภาระกิจเร่งด่วนที่สุดของรัฐบาลขณะนี้ คือ มาตรการที่ 1 การกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่ควรให้เกิดการหยุดชะงัก เพื่อให้ปริมาณปลาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปลาหมอคางดำขยายพันธุ์ได้เร็วใน 22 วัน ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณในการนำปลาขึ้นจากน้ำจะต้องรองรับปริมาณได้มากกว่า 5,000 ตัน ดังนั้นสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณ 100 ล้านบาท อาจยังไม่สอดคล้องกับปริมาณปลาที่แพร่กระจายอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อปลาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ต้องดำเนินการต่อด้วยมาตรการที่ 2 คือ การปล่อยปลาผู้ล่าที่มีขนาดใหญ่พอที่จะกินไข่ปลาและลูกปลาหมอคางดำได้ โดยไม่ถูกปลาหมอคางดำล่าเสียก่อน เพื่อช่วยกำจัดปลาก่อนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยกรมประมงมีแผนปล่อยปลาผู้ล่าไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัว

ต่อเนื่องด้วยมาตรการที่ 3 ปลาที่จับได้จำเป็นต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำไปพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ปลาป่น หรือส่งเสริมให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน อาทิ ปลาแดดเดียว ปลาร้า น้ำปลา ตลอดจนเป็นเมนูอาหารประจำถิ่น ฯลฯ เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนในพื้นที่ที่มีการระบาดของปลา จะเป็นการจูงใจให้มีการจับปลาอย่างต่อเนื่อง ให้การจับปลาเป็นกิจกรรมที่ชุมชนทำร่วมกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งรัฐบาลควรพิจารณางบประมาณสนับสนุนให้เพียงพอจนเกิดผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

ในส่วนมาตรการที่ 4 ควรมองย้อนกลับไปที่ประสิทธิภาพของการดำเนินการตามมาตรการที่ 1-3 หากสำเร็จตามเป้าหมาย จะเป็นเครือข่ายชั้นดีในการสำรวจและเฝ้าระวังสถานการณ์ปลาหมอคางดำได้เป็นอย่างดี โดยภาพรัฐอาจต้องพิจารณาจัดสรรงบประมาณหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการจับปลา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชุมชนจัดการปัญหาได้พื้นที่ได้ทันที

นับว่า มาตรการที่ 1-4 เป็นมาตรการเร่งด่วนที่สุดและควรทำไปพร้อมๆ กันในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาด ซึ่งรัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว แต่ต้องมีการตรวจสอบและติดตามให้แผนเดินหน้าอย่างราบรื่นไม่หยุดชะงัก เพราะจะเป็นผลดีในการควบคุมปลาหมอคางดำให้อยู่ในพื้นที่จำกัดได้ และการดำเนินการในช่วงนี้ต้องควบคู่ไปกับประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง พ.ศ.2567 ที่ห้ามเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำมีชีวิตออกนอกพื้นที่ที่มีการระบาด ส่วนการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำไม่มีชีวิตต้องตัดหัวควักไส้แล่เป็นชิ้นหมักเกลือเศษซากของปลาห้ามทิ้งลงสู่แหล่งน้ำหรือท่อระบายน้ำ และต้องมีการจัดการไม่ให้ไข่ปลาหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำ ขณะที่ปลาที่ส่งไปเป็นวัตถุดิบผลิตปลาป่น ต้องเป็นปลาไม่มีชีวิต ต้องเคลื่อนย้ายแบบแห้ง และอยู่ในภาชนะบรรจุมิดชิด ป้องกันเศษซากร่วงหล่นระหว่างเคลื่อนย้ายเท่านั้น

มาตรการที่ 5-7 ควรพิจารณาเป็นมาตรการระยะกลางและระยะยาว และทำหลังจากมั่นใจว่าสามารถควบคุมปลาหมอคางดำได้จริง จากนั้นเดินหน้าฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับทั้งคนพื้นที่และเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำพื้นถิ่นในระยะยาว

ดังนั้น การจัดลำดับก่อน-หลัง ในการจัดการปลาหมอคางดำอย่างเป็นระบบและจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องศึกษาเป็นอย่างดีและเดินหน้าแก้ปัญหาให้ตรงจุด จะทำให้เป้าหมายในการลดปริมาณและควบคุมปลาหมอคางดำให้อยู่ในวงจำกัดก็จะเกิดประสิทธิผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน./

สินี ศรพระราม นักวิชาการอิสระ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น