พิธีลงนาม MOU ระหว่างกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (DCP) กับ สำนักงานคณะกรรมการจัดระดับสื่อแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KMRB) ในงานมหกรรมเกมนานาชาติ Thailand International Game Showcase 2024 ระหว่าง นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (DCP) กับ Mr. Lee Ui jun Secretary-General (KMRB) ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการจัดระดับสื่อแห่งสาธารณรัฐเกาหลี โดยมี นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากกลุ่มเกม นายสิทธิชัย เทพไพฑูรย์ กลุ่มแฟชั่น นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา กลุ่มจังหวัด นายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล และ กลุ่มอาหาร คุณกำธร ศิลาอ่อน พร้อมเครือข่ายวัฒนธรรม ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ทรู ไอคอน ฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม
นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า การดำเนินการความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการจัดระดับสื่อแห่งสาธารณรัฐ เกาหลี (KMRB) ในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม หรือ DCP ในการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยออกสู่สายตาชาวโลก และสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศไทยจะได้เรียนรู้วิธีการทำงานและแนวคิดใหม่ๆ จากนานาชาติ และนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนางานของเราให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และการร่วมมือกัน จะช่วยให้ผลงานของเราเข้าถึงผู้ชมที่หลากหลาย และนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจ เช่น การร่วมกันผลิตสื่อ หรือการจัดจำหน่ายผลงานร่วมกัน ทั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือกับสำนักงาน คณะกรรมการจัดระดับสื่อแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KMRB) ในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ในราชอาณาจักรไทย เพื่อยกระดับความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น
ภายหลังพิธี MOU ต่อด้วยการเสวนา Thailand Content Forum : THACCA (Soft Power) ในหัวข้อแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทยผ่านอุตสาหกรรมเกมและอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงให้เกมเป็น Soft Power ที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สายตานานาชาติ โดยผู้แทนจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย กลุ่มเกม กลุ่มแฟชั่น กลุ่มจังหวัด และกลุ่มอาหาร
นายประสพ อธิบดีสวธ. กล่าวว่า งานเสวนา Thailand Content Forum นี้ หัวข้อของการเสวนามีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงให้เกมเป็น Soft Power ที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่สายตานานาชาติ ซึ่งเป็นหัวข้อที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ และการสร้างสรรค์อัตลักษณ์ของชาติ Soft Power เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับ ประเทศ ช่วยส่งเสริมวัฒนธรรม ประเพณี และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับต่างชาติ ด้วยสื่อภาพยนตร์และวีดิทัศน์เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลัง ในการสื่อสารและเผยแพร่ Soft Power ของประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการและที่เกี่ยวข้องที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศ ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานมีคุณภาพ ไม่เพียงแต่จะสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมแต่ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยไปสู่สายตาชาวโลกอีกด้วย
งานมหกรรมเกมนานาชาติ ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน 67 มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลาย ประกอบด้วย 6 กิจกรรม ดังนี้
1.Thai Board Game และ Thai Game Card โดยเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองเล่นเกมกระดานที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย อย่างเกมการ์ดฝีมือคนไทย Summoner Master (ซัม-มอน-เนอร์-มาส-เตอร์) และผู้ประกอบการด้านบอร์ดเกม อย่าง Board Game Academy
2.Thai and International PC และ Mobile Game ร่วมสัมผัสประสบการณ์เกมระดับโลก ให้ทดลองเล่นเกม PC และมือถือ อย่างเกม Black Desert Online
3.Game Developer เพื่อสำรวจโลกของการสร้างเกมโดย Game Developer Gathering เครือข่ายผู้พัฒนาเกมไทย ยกทัพเกมไทยกว่า 30 เกมมาสร้างสีสันให้ทดลองเล่น
4.E-Sport Player ,E-Sport Backstage และ University เพื่อสัมผัสความสามารถของนักกีฬาอีสปอร์ตระดับมืออาชีพอย่าง Talon (ทา-ลอน) เรียนรู้เบื้องหลังการจัดการแข่งขัน และค้นพบโอกาสทางการศึกษาที่จะพาคุณสู่ความสำเร็จในอุตสาหกรรมเกม
5.Cosplay ร่วมสนุกกับการแต่งตัวเป็นตัวละครโปรดในสไตล์คอสเพลย์
6.การสัมมนานานาชาติด้านเกม (TIGS Forum) โดยมี Speaker จากต่างประเทศมาบรรยายและแลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมเกมสู่เวทีโลก
นอกจากกิจกรรมหลักแล้ว พลาดไม่ได้กับความบันเทิงในงานทั้ง 3 วัน อาทิ Mini concert กิจกรรม Idol on stage โชว์สุดพิเศษจากกลุ่มศิลปินแนวสดใสน่ารักกำลังเป็นที่นิยมในวงการบันเทิงไทย Mini concert จากวง ATLAS กิจกรรม Cosplay Interview พูดคุยสัมภาษณ์พิเศษกับ Cosplay ที่มีชื่อเสียงของไทย และในวันสุดท้าย พบกับ Mini concert สุดพิเศษโดยวง Bowky Lion ฯลฯ