ปัดฝุ่นโครงการ ย้อนตำนาน 34 ปี “เขื่อนแก่งเสือเต้น” ทำไมไปไม่ถึงไหน

แก่งเสือเต้น

ย้อนมหากาพย์ ตำนาน 34 ปี ปลุกผีโครงการก่อสร้าง “เขื่อนแก่งเสือเต้น” เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ภาคเหนือเพราะอะไร ทำไมถึงไปไม่ถึง 

 

 

ความพยายามในการรื้อฟื้นโครงการสร้าง “เขื่อนแก่งเสือเต้น” ถูกปลุกผีขึ้นมาอีกครั้ง ในปี 2567 เมื่อนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมผุดแนวคิด เตรียมปัดฝุ่นโครงการสร้างเขื่อน “แก่งเสือเต้น” อีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม นับเป็นโปรเจ็กต์ที่กินเวลายาวนานถึง 34 ปี เพราะถูกคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ และนักอนุรักษ์ จนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ Top News พาย้อนตำนาน มหากาพย์ “เขื่อนแก่งเสือเต้น ควรสร้างไหม” ทำไมถึงไปไม่ถึง

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ตำนาน 34 ปี ปลุกผีโครงการ เขื่อนแก่งเสือเต้น

 

โครงการสร้าง “เขื่อนแก่งเสือเต้น” ถูกผลักดันมาแล้วหลายรัฐบาล โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2523 ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับผิดชอบ ตามมติคณะรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อประโยชน์ด้านการเกษตร ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน และแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากได้ โดยจุดที่สร้าง อยู่ห่างจากจุดบรรจบของแม่น้ำยม กับแม่น้ำงาว ที่ไหลมาจาก อ.งาว จ.ลำปาง ไปทางเหนือประมาณ 6.7 กิโลเมตร ห่างจาก อ.เมืองแพร่ 50 กิโลเมตร มีพื้นที่รับน้ำ 3,583 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 933 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี พื้นที่ชลประทานแม่น้ำยมที่มีพื้นที่ใหญ่กว่า 200,000 ไร่ ด้านท้ายน้ำยังต้องอาศัยน้ำฝนเท่านั้น

 

ตัวเขื่อนเป็นเขื่อนหินถมดาดคอนกรีต สันเขื่อนกว้าง 10 เมตร สูงจากท้องลำน้ำ 69 เมตร สันเขื่อนยาว 540 เมตร หากสร้างแล้วจะมีพื้นที่เกษตรกรรมในฤดูแล้งในพื้นที่ชลประทานแถบลุ่มแม่น้ำยมเพิ่มขึ้น 367,228 ไร่

เขื่อนแก่งเสือเต้น

แต่ทว่า นับตั้งแต่มีการเริ่มต้นโครงการ ได้ก่อเกิดการคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มๆ (เพราะต้องถูกอพยพ) รวมทั้งนักอนุรักษ์ ต่างบอกว่า การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่เฉพาะกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ดั้งเดิม แต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง กับมูลค่าการก่อสร้างสูงถึง 12,900 ล้านบาท

คัดค้านสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

จากนั้นในปี 2532 กฟผ. ได้โอนให้กรมชลประทานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยกรมชลประทานได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ศึกษา และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อเดือนเมษายน 2534 และแผนแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ในปี 2537

 

ต่อมาในปี 2539 ชาวบ้านในพื้นที่ รวมตัวชุมนุมให้ยกเลิกโครงการ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ชะลอออกไปก่อน หลังจากนั้นในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ผลักดันโครงการอีกครั้ง แต่ก็ยังต้องเผชิญกับเสียงคัดค้าน

 

และในปี 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หยิบยกโครงการนี้ขึ้นมาศึกษาอีกครั้ง ซึ่งชาวบ้านมองว่า แทบจะทุกรัฐบาล มักจะยกเอาประเด็นการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมา เพื่อใช้เป็นวิธีการแก้ปัญหา

คัดค้านสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

จนถึงล่าสุดปี 2567 จากภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ จ.แพร่, น่าน, สุโขทัย เป็นที่มาให้รัฐมนตรีภูมิธรรม ผุดแนวคิดที่จะปัดฝุ่นโครงการก่อสร้าง “เขื่อนแก่งเสือเต้น” ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

 

เขื่อนแก่งเสือเต้น ควรสร้างไหม

 

งานวิจัยของ พิสิษฐ์ ณ พัทลุง ในปี 2539 จากข้อมูลมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น พบว่า การพิจารณาโครงการไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยรัฐได้ละเมิด พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ถึง 2 ครั้งด้วยกัน ซึ่ง ณ เวลานั้น ประเทศไทยยังใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535

 

มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ปี 2538 ได้ตั้งข้อสงสัยในประเด็นแผ่นดินไหว โดยระบุว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของโลก

 

ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยืนยันว่า ต่อให้มีเขื่อนแก่งเสือเต้นน้ำก็ยังท่วมสุโขทัย เพราะน้ำไม่ได้มาจากลำน้ำยมเพียงอย่างเดียว มีนักวิชาการวิเคราะห์หลายคน หลายสำนักว่าต่อให้มีเขื่อนแก่งเสือเต้น สุโขทัยก็ยังเสี่ยงน้ำท่วมเช่นเดิม แม้จะเก็บกักได้ระดับ

 

ภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ข้อมูลว่า การสร้างเขื่อนไม่ใช่ประเด็นหลักในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยมโดยตรง แต่มีความเห็นว่า ควรบริหารจัดการน้ำไปในแต่ละพื้นที่ให้มีความเหมาะสมน่าจะดีกว่า

แก่งเสือเต้น

ส่วนข้อมูลจาก ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ข้อมูลเทียบเคียงถึง ผลดี-ผลเสีย ของการสร้าง “เขื่อนแก่งเสือเต้น” ที่ลองชั่งน้ำหนักกันดู

 

ผลดี “เขื่อนแก่งเสือเต้น”

 

  • มีเขื่อนที่สามารถบริหารจัดการปริมาณน้ำได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
  • ได้ปริมาณน้ำประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในทุกปี และดีต่อการชลประทาน
  • ชนิดพันธุ์ปลามีเพิ่มขึ้น
  • เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่
  • มีพื้นที่น้ำใต้ดินเพิ่มขึ้น ความชื้นสูง ทำให้ป่าอุดมสมบูรณ์
  • สามารถผลิตไฟฟ้าได้

 

ผลเสีย “เขื่อนแก่งเสือเต้น”

 

  • เสียพื้นที่ป่าประมาณ 1 แสนไร่
  • เสียไม้สักทอง
  • ต้องใช้งบประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท
  • ทำเลการสร้างเขื่อนดังกล่าว ตั้งอยู่บนพื้นที่แนวโน้มเกิดแผ่นดินไหว

 

เมื่อการสร้าง “เขื่อนแก่งเสือเต้น” ที่กลายเป็นมหากาพย์ ถูกปลุกผีขึ้นมาอีกครั้ง จากนี้ต้องลุ้นว่า การนำโครงการ ออกมาปัดฝุ่นในรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะดำเนินการสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ เพราะเชื่อว่าแรงกระเพื่อมที่ปะทุขึ้นไม่ต่างจากแผ่นดินไหวอย่างแน่นอน

 

 

 

ที่มา : วิกิพีเดีย, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เปิดคำพิพากษา “เต้ มงคลกิตติ์” ทำสัญญาประนีประนอม ยอมขอโทษ หมิ่นกล่าวหา “ศักดิ์สยาม”
KIA-PDF ตีวงล้อมพม่า! ทอ.โผล่ช่วย แต่ยิงพลาดเป้า-สอยร่วงพวกเดียวกัน
จังหวัดฉะเชิงเทราปล่อยปลากะพงขาวเสริมทัพ คุมปลาหมอคางดำต่อเนื่อง ชูกินได้-อร่อยด้วย
ห้าดาว คว้า 3 รางวัลใหญ่ 'แฟรนไชส์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2024' พร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการสู่ธุรกิจมั่นคง
ปลาที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำญี่ปุ่นล้มป่วยเพราะเหงา
“ดร.เฉลิมชัย” ลงพื้นที่ตรวจราชการโครงการน้ำบาดาลระยะไกล แก้ปัญหาพื้นที่ขาดแคลนน้ำให้แก่ประชาชน ต.นาข่า จ.อุดรธานี
"ไผ่ ลิกค์" ลั่นได้คุยแล้ว ปมดาราดัง ยืมเงินเพื่อน 20 ล้าน ปล่อยกู้ รอเจ้าตัวมาตอบ ย้ำเคยเตือนเรื่องใช้ชีวิตแพง
รองโฆษก รบ.เผย ‘กฎหมายฟ้องชู้’ ใหม่บังคับใช้แล้ววันนี้ ฟ้องหย่า-เรียกค่าเสียหายได้ทุกเพศ
"ตร.ทางหลวงเมืองกรุงเก่า" จับเมียนมา ขนเพื่อนร่วมชาติส่งทำงานในไทย สารภาพสิ้นทำมานาน 1 ปี วิ่งรถกว่า 100 เที่ยว
"ทนายเดชา" เปิดใจ หลังศาลสั่ง คุก 1 ปี รอลงอาญา คดีหมิ่น "อ.อ๊อด" ย้ำไม่มีร้องไห้ ใส่กุญแจมือ รอชำระค่าปรับตามคำพิพากษา

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น