Top news รายงาน วันที่ 3 ก.ย.2567 – ที่รัฐสภา นายอลงกต วรกี สมาชิก วุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงกรณีที่มี สว.ท่านหนึ่งออกมาให้ข่าวว่า สว.เสียงข้างมากคว่ำมติ ในการตรวจสอบจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่า ไม่ใช่ แต่กรณีการตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนี้ ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วเสร็จ ก็ให้ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้อำนาจในการวินิจฉัย
นายอลงกต กล่าวกรณีการโต้เถียงในสภาว่า สว.มีอำนาจในการตรวจสอบหรือไม่นั้น คำตอบคือไม่มีมีอำนาจในการตรวจสอบ ยกเว้นกรณีการเสนอชื่อตุลาการ ที่จะมีหน้าที่ตรวจสอบได้ และมีมติเห็นชอบในการส่งชื่อเพื่อดำรงตำแหน่ง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ทำให้ในการประชุมเมื่อวานนี้ จึงมีการเสนอประธานวุฒิสภาว่า ให้มีการถอนเรื่องนี้ออกไป หรือให้มีมติเห็นชอบไม่รับเรื่องนี้ ทำให้ประธานวุฒิสภาตัดสินใจให้มีการลงมติ
นายอลงกต กล่าวในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ถึงกรณีที่มีการถกเถียงเรื่องการลงคะแนนให้ความเห็นชอบนายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียง ให้ความเห็นชอบ 184 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 2 คะแนน ไม่ออกเสียง 9 คะแนน และงดออกเสียง โดยยืนยันว่า คณะกรรมาธิการสามัญได้ตรวจสอบประวัติ และความประพฤติแล้ว ตามแนวทางดำเนินงาน ซึ่งพบว่ามีการดำเนินการถูกต้อง รวมถึงมีการตรวจสอบไปยังหน่วยงานต้นสังกัดแล้ว มีการพิจารณาด้วยความรอบคอบแล้ว
สำหรับในช่วงเย็นของวันนี้ จะมีเริ่มการพิจารณาบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด โดยจะเป็นการลงคะแนนในทางลับเช่นเดิม และหลังจากมีการลงคะแนนเสียงแล้ว จะมีการแถลงข่าวต่อไป
ส่วนกรณีการตั้งคณะกรรมาธิการ สว.ทั้ง 21 คณะ ซึ่งฝั่ง สว.พันธุ์ใหม่ ออกมาเปิดเผยว่า เสียงข้างมากไม่ได้ทำตามข้อตกลง เนื่องจากตีตกร่างแก้ไขข้อบังคับทั้งหมดของเสียงข้างน้อย นายอลงกต กล่าวว่า คำถามนี้น่าสนใจมาก เนื่องจากมีการมองว่า มีทั้ง สว.พันธุ์ใหม่ และ สว.สีน้ำเงิน แต่ในความเป็นจริงตนขอยืนยัน ว่า สว.ทั้งหมด มีเฉพาะ 20 กลุ่มอาชีพ จำนวน 200 คน เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย แต่จะเป็นแบบไหนก็แล้วแต่การลงมติ
นายอลงกต ชี้ถึงสิ่งที่น่าสนใจ คือทำไมจึงมีการตั้งคำถามแบบนี้ ทั้งที่มีมติของสภาไปแล้ว โดยยกตัวอย่างกรณีการเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรี ที่เมื่อแพ้แล้ว ก็มาบอกว่าไม่ชอบธรรม ที กทม.ได้เต็มพื้นที่ไม่เห็นพูดเลย ทำไมเลือกที่จะมาร้องกับสื่อมวลชน หรือมาหาแสงแบบนี้ เพราะไม่ว่าจะมีกรรมาธิการกี่คณะ แต่ในท้ายที่สุดการเสนอร่างนี้ ก็เป็นสิ่งที่เสียงส่วนมากเห็นชอบ แม้จะมีการแปรญัตติ แต่ญัตตินั้นเสียงส่วนมากก็ไม่เห็นชอบ