วันที่ 6 ก.ย.67 ได้มีการเคลื่อนย้ายเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง หมายเลข 99 (ต.99) จากท่าเรือจุกเสม็ด มายังประตูทางเข้ากองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ระยะทางกว่า 10 ก.ม. ตามเส้นทางถนนสุขุมวิท ท่ามกลางความสนใจของประชาชนที่จอดรถหรือออกจากบ้าน มาบันทึกภาพประวัติศาสตร์ เพราะไม่ได้เห็นบ่อยครั้งในการเคลื่อนย้ายเรือรบ หรือเรือตรวจการณ์ตามท้องถนน และยังเป็นเรือของพ่อ หรือเป็นเรือที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้กองทัพเรือ ต่อเรือใช้เองอีกด้วย ขณะที่ได้ปลดระวางไปแล้ว โดยได้นำขึ้นจากท้องทะเลเพื่อซ่อมทำให้สมบูรณ์ สง่างาม พร้อมเคลื่อนย้ายมาจัดตั้งไว้บริเวณป้ายหน้าประตูทางเข้า กองเรือยุทธการ ได้เป็นที่ประจักษ์ อวดโฉมอันสง่างามสู่สายตาประชาชน สำหรับ ชุดเรือหลวงของพ่อ เป็นเรือที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้กองทัพเรือ ต่อเรือใช้เองสนองโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเรือ ต.99 ถือเป็น 1 ใน 9 เรือรบหลวง ที่ต่อขึ้นใช้เองในราชการ ช่วงปี 2511-2530 แห่งกองทัพเรือไทย อันประกอบด้วย เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.91- ต.99 ซึ่งเป็นเรือที่ทรงคุณค่าทางจิตใจของทหารเรือทุกคน อนึ่ง เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.99 เป็นเรือที่ประจำการอยู่ในสังกัดกองเรือยามฝั่ง ขึ้นระวางประจำการ เมื่อวันที่ 9 ม.ค.253 ปฏิบัติภารกิจในท้องทะเล มายาวนานถึง 34 ปี และได้ปลดระวางเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2565 ซึ่งเป็นเรือที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการพระราชทานทั้งพระราชดำริ และพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ ภายใต้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการพึ่งพาตนเอง และถูกสร้างโดยกรมอู่ทหารเรือ ทำให้กองทัพเรือ มีขีดความสามารถในการต่อเรือ ด้วยตนเอง โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีอัจฉริยภาพในการต่อเรือ ซึ่งเมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรการต่อเรือยนต์รักษาฝั่งที่ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ.2503 พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริว่า “กองทัพเรือ น่าจะต่อเรือยนต์เร็วรักษาฝั่ง เช่นนี้ได้ เพื่อที่จะให้เกิดความชำนาญงาน และรู้จักใช้เทคนิคต่างๆ อันจะเป็นการประหยัดมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ” จึงทำให้กองทัพเรือ โดยกรมอู่ทหารเรือ รับสนองพระราชดำริ โดยการต่อเรือในชุดเรือ ต.91 ขึ้น ซึ่งในระหว่างการดำเนินการนั้น พระองค์ยังทรงพระราชทานคำแนะนำ ตลอดจนแก้ปัญหาต่างๆ อันเกิดจากกระบวนการต่อเรือ รวมถึงทรงเป็นธุระติดต่อกับสถาบันวิจัย และทดลองแบบเรือแห่งชาติของประเทศอังกฤษ ให้ทำการทดสอบแบบของเรือ ต.91 และแม้แต่ การทดสอบเรือในทะเล พระองค์ก็ยังทรงเสด็จไปร่วมทดสอบด้วยพระองค์เอง ทั้งยังทรงตรวจแก้ข้อผิดพลาดต่างๆ จนทำให้การต่อเรือสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และในวันที่ 9 พ.ค.2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ ยังทรงเสด็จไปประกอบพิธีปล่อยเรือ ต.91 ลงน้ำ นับจากนั้นมา กองทัพเรือ จึงได้ดำเนินการต่อเรือในชุดเรือ ต.91 เพิ่มเติมอีกคือ 8 ลำ คือ เรือ ต.92, ต.93, ต.94, ต.95, ต.96, ต.97, ต.98 และ ต.99 ในระหว่างปี 2514-2530 เป็นต้นมา นิราช ทิพย์ศรี ผู้สื่อข่าว รายงาน ข่าวที่น่าสนใจ ข่าวที่เกี่ยวข้อง -