“นายกฯ” แถลงชัดยึดมั่น พิทักษ์รักษาสถาบันฯ บริหารแผ่นดินซื่อสัตย์สุจริต พร้อมทำคนไทยมีกิน มีใช้ – Top News รายงาน
เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567 หลังที่ประชุมครม.ชุดใหม่นัดพิเศษ นำโดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบร่างนโยบายรัฐบาล ที่จะแถลงต่อสภาฯในวันที่ 12 กันยายนนี้ โดยได้จัดพิมพ์เพื่อส่งให้สำนักเลขาธิการสภา ซึ่งร่างนโยบายรัฐบาลได้จัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม หนา 85 หน้า
สำหรับหน้าแรก เป็นการแถลงของนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นการเดินหน้าบริหารประเทศท่ามกลางความท้าทาย 9 ความท้าทาย เช่น รายได้ประชาชนไม่เพียงพอ ,สังคมสูงวัย,ภัยจากยาเสพติดที่แพร่ระบาดคุกคามสังคม , ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง โดยรัฐบาลจะเปลี่ยนความท้าทายนี้ให้เป็น “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม”
จากนั้นเป็นการกำหนดนโยบายเร่งด่วนสำคัญที่จะเดินหน้าบริหารประเทศ 10 ข้อ ที่จะดําเนินการทันที ดังนี้
นโยบายแรก รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรมของผู้มีภาระหนี้สิน ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ๆที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์
นโยบายที่สอง รัฐบาลจะดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และการแก้ไขปัญหาหนี้ของ SMEs เช่น การพักหนี้ การจัดทำ Matching Fund ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อประคับประคองให้กลับมาเป็นกลไกที่แข็งแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นโยบายที่สาม รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธาธารณูปโกค ปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำ ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง รวมทั้งการพัฒนา
ระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง
นโยบายที่สี่ รัฐบาลจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี และเศรษฐกิจใต้ดิน เข้าสู่ระบบภาษี ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 50 ของ GDP เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน พร้อมทั้งจะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
นโยบายที่ห้า รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ
ที่มุ่งการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึง
แหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน และการประกอบอาชีพ