สพฐ. ดันผลงานดีเด่นด้าน Coding ชูศักยภาพนักเรียนไทยด้านการคิดสู่การศึกษาโลกดิจิทัล

กดติดตาม TOP NEWS

วันที่ 8 กันยายน 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการเผยแพร่องค์ความรู้ และแสดงผลงานดีเด่นด้าน Coding “CODING Achievement Awards” ครั้งที่ 3 ระดับชาติ พร้อมมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตรแก่ผู้ทำผลงานดีเด่น จำนวน 84 ราย โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ นายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 และผู้อำนวยการสำนักบริหารการมัธยมศึกษา นายชัยวุฒิ เลิศวนสิริวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นางสาวโชติมา หนูพริก รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ รวมถึงคณะผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ ครู และนักเรียน กว่า 700 คน เข้าร่วม ณ โรงเรียนจันทร์ประดิษฐารามวิทยาคม กรุงเทพมหานคร
สำหรับกิจกรรมการเผยแพร่องค์ความรู้และแสดงผลงานดีเด่นด้าน Coding “CODING Achievement Awards ครั้งที่ 3 ระดับชาติ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของครู พร้อมติดตามผลการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ และส่งเสริมประสิทธิภาพผู้ปฏิบัติในพื้นที่ โดยคัดเลือกแบบอย่างที่ดี ด้านการบริหาร การส่งเสริม และนวัตกรรมหรือรูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้าน Coding ที่สามารถจัดเก็บเป็นองค์ความรู้และเผยแพร่เป็นแบบอย่างสู่สาธารณะ และยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ปฏิบัติงานด้าน Coding โดยมอบโล่รางวัลเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ และครูผู้สอน และผู้จัดการเรียนรู้ Coding ที่มีผลงานดีเด่น รวมทั้งสิ้น 84 รางวัล โดยภายในงานมีการแสดงพิธีเปิดจากโรงเรียนจันทร์ประดิษฐารามวิทยาคม รวมถึงการอบรมเสวนาทางวิชาการ ช่วงที่ 1 เรื่อง “การจัดการเรียนรู้ผ่าน “Coding” ในศตวรรษที่ 21” และช่วงที่ 2 เรื่อง “ทิศทางใหม่ในการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ: บทบาทและความท้าทาย” เป็นต้น

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ Coding ในช่วงที่ผ่านมา มุ่งเน้นนักเรียนมีทักษะคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาและการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล โดยเริ่มบรรจุวิชาวิทยาการคำนวณไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ปรับปรุง พ.ศ. 2560) และโรงเรียนเริ่มใช้หลักสูตรที่มีวิชาวิทยาการคำนวณในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งครูในโรงเรียนได้อบรมพัฒนาความรู้ จาก สพฐ. และ สสวท. ตลอดระยะเวลา 7 ปี ที่ผ่านมาผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ และครูผู้สอน สะสมประสบการณ์การจัดการเรียนรู้จนทำให้สามารถเกิดเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ดีเด่น สพฐ. และสสวท. จึงดำเนินการคัดเลือกผลงานดีเด่นผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ และครูผู้สอน การจัดการเรียนรู้ของครูซึ่งเป็นผลงาน Coding Achievement Awards ครั้งที่ 3 ระดับชาติ และจัดงานนี้ขึ้นเพื่อให้ครูแลกเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ สามารถนำกลับไปประยุกต์ใช้กับนักเรียนตามบริบทของตนเอง ซึ่งนี่จะเป็นก้าวต่อไปในการพัฒนากำลังคน เพราะช่วงที่ผ่านมา AI และเทคโนโลยีดิจิทัลมีความก้าวหน้าขึ้น จึงขอประกาศเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ก้าวทันความก้าวหน้าของโลก ทั้งการใช้ AI, Blockchain การสร้างพลเมืองดิจิทัลให้ตื่นรู้และมีคุณธรรม เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีโลกต่อไป
ทางด้าน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า สพฐ. มีการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา จัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมพหุปัญญาให้กับผู้เรียน เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงตามแนวคิดที่หลากหลาย เช่น Active Learning, STEM Education, Coding ฯลฯ และกระบวนการส่งต่อในระดับที่สูงขึ้น เช่น AI ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อรองรับวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ “IGNITE THAILAND” ของกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ.

“ปัจจุบันเทคโนโลยีของโลกยุคใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นทุกวัน การส่งเสริมการเรียนรู้ด้าน Coding รวมถึงพหุปัญญาให้กับผู้เรียน จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนของเรามีองค์ความรู้ที่เพียงพอสำหรับการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ สพฐ. พร้อมที่จะพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ลงสู่ห้องเรียนและเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ได้รับรางวัลดีเด่น 84 ผลงาน ประกอบด้วย ผู้บริหารดีเด่น รวม 23 ผลงาน แบ่งเป็น ผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพป. จำนวน 11 ผลงาน และสังกัด สพม. จำนวน 12 ผลงาน, ศึกษานิเทศก์ดีเด่น รวม 13 ผลงาน แบ่งเป็น ศึกษานิเทศก์ สังกัด สพป. จำนวน 9 ผลงาน และสังกัด สพม. จำนวน 4 ผลงาน, ครูดีเด่น รวม 48 ผลงาน แบ่งเป็น Unplugged Coding ระดับประถมศึกษา จำนวน 12 ผลงาน Unplugged Coding ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 12 ผลงาน Plugged Coding ระดับประถมศึกษา จำนวน 12 ผลงาน และ Plugged Coding ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 12 ผลงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น