ลอึ้ง “ต่างด้าว” ล้ำเส้นคนไทย จี้รบ.ใหม่ ให้สัญชาติ การศึกษา อาชีพ
ข่าวที่น่าสนใจ
เป็นประเด็นที่คนไทยฟังแล้วถึงกับอึ้งไปตามๆ กัน เมื่อเครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ TMR ,เครือข่ายประชากรข้ามชาติ หรือ MWG , เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ หรือ CRSP ได้ออกจดหมายเปิดผนึกข้อเสนอแนะนโยบายแก่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะแถลงต่อรัฐสภา ในด้านการบริหารจัดการการโยกย้ายถิ่นฐานผู้อพยพ และผู้ลี้ภัยในประเทศไทย
โดยเนื้อหาสำคัญของข้อเสนอแนะจากเครือข่ายดังกล่าว มีทั้งหมด 3 ระยะ ดังนี้
1.ระยะเร่งด่วน ให้รัฐบาลพิจารณากำหนดนโยบายด้านการบริหารจัดการ กลุ่มผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน และผู้ลี้ภัยทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลี้ภัยจากสถานการณ์ความไม่สงบ ภายในประเทศเมียนมา ซึ่งเข้ามาในประเทศไทยแล้ว โดยมีการดำเนินการ อาทิ
-ให้คณะรัฐมนตรีเร่งพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 กำหนดสถานะผู้อพยพลี้ภัยที่อยู่ในไทย ผู้อพยพลี้ภัยจากเมียนมา ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และเร่งกำหนดสถานะให้แก่เด็กกลุ่มต่างๆ เพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงสิทธิ์ด้านการศึกษา สาธารณสุข และการทำงานได้ ตลอดจนพิจารณาปรับเกณฑ์และกลไก เพื่อการมีสัญชาติไทยของเด็กที่เกิดในไทย
-ให้ยุติการกักขังโดยไม่มีกำหนดเวลา ต่อผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน และผู้ลี้ภัยทุกกลุ่ม รวมทั้งกำหนดมาตรการทางเลือกแทนการกักขัง ให้แก่ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน และผู้ลี้ภัยทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูรย์มากกว่า 40 คน ซึ่งถูกกักตัวอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวมาเป็นเวลานาน 10 ปี และชาวโรฮีนจาจากประเทศเมียนมา
-เร่งรัดการเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งการต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ ที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดการอนุญาตในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 68 เพื่อป้องกันผลกระทบและอันตราย จากมาตรการการเกณฑ์ทหารของรัฐบาลเมียนมา
2.ระยะกลาง ให้รัฐบาลพิจารณากำหนดนโยบายด้านการบริหารจัดการ พื้นที่ชายแดน เพื่อรองรับกับแนวโน้มของสถานการณ์ในอนาคต อาทิ
-ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการ กรณีบุคคลชาวเมียนมาเดินทางเข้าไทยตามแนวชายแดน อันเนื่องมาจากการได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา โดยยึดหลักการไม่ผลักดันส่งกลับไปสู่ภัยอันตรายต่อชีวิต
-พิจารณาจัดทำมาตรการ เพื่อยุติการสร้างความเกลียดชัง และทัศนคติในด้านลบของสังคมไทย ต่อชุมชนผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน และผู้ลี้ภัยในประเทศไทย และให้มีมาตรการส่งเสริมทัศนคติที่ดีของสังคมไทย และส่งเสริมความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนของชุมชนผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน และผู้ลี้ภัยในประเทศไทย
3.ระยะยาว ให้รัฐบาลพิจารณากำหนดนโยบาย ด้านการบริหารจัดการการโยกย้ายถิ่นฐาน อาทิ
-พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร์ พ.ศ.2534 เพื่อให้ผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ สามารถเข้าถึงสถานะบุคคลและทะเบียนราษฎร และสถานะการอยู่อาศัย ตลอดจนการคุ้มครองได้
-พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 โดยกำหนดสิทธิ์และมาตรการคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง โดยยึดหลักการไม่ผลักดันส่งกลับไปสู่ภัยอันตรายต่อชีวิต การยุติการกักขัง เพื่อรอการส่งกลับอย่างไม่มีกำหนด สิทธิ์ในการอยู่ร่วมกันในครอบครัว
-พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ให้เอื้อต่อการทำประกอบอาชีพที่สุจริต สำหรับคนที่ไม่มีสัญชาติไทย
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่ และเรียกร้องเกินไปหรือไม่ เช่น ข้อเรียกร้องให้แก้พระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ให้เอื้อต่อการประกอบอาชีพที่สุจริต สำหรับคนที่ไม่มีสัญชาติไทย จะเป็นการเปิดช่องทางในการแย่งงานคนไทยหรือไม่ หรือข้อเรียกร้องให้ลูกหลานที่เกิดในไทย ได้มีสัญชาติไทยในอนาคต
ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบการเคลื่อนไหวของเครือข่ายเหล่านี้ พบว่า ได้เคลื่อนไหวจัดกิจกรรมเสวนา กับเครือข่ายแรงงานสีส้ม รวมทั้งการเคลื่อนไหวยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ ก็มักจะยื่นต่อกลไกกรรมาธิการสภาฯ โดยมี สส.พรรคส้มมาเป็นผู้รับหนังสือ เช่น เมื่อพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน 63 นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายประชากรข้ามชาติ ก็ไปยื่นข้อเรียกร้องกับคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาฯ ซึ่งนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคประชาชน และในฐานะรองโฆษกกรรมาธิการ ก็มาเป็นผู้รับหนังสือ ,วันที่ 26 ตุลาคม 66 นายอดิศรกับเครือข่าย ก็ไปยื่นหนังสือปัญหาการเข้าถึงการบริการสุขภาพของบุคคลไม่มีสัญชาติไทย ต่อคณะกรรมาธิการศาลฯ
ซึ่งก็มีนางสาวเบญจา แสงจันทร์ สส.ก้าวไกลในขณะนั้น ในฐานะกรรมาธิการศาลฯ พร้อมด้วย สส.ก้าวไกลอีกจำนวนหนึ่ง มารับหนังสือจากนายอดิศร จนมีการตั้งข้อสงสัยว่า เครือข่ายคนกลุ่มนี้ มีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะหลายข้อเสนอ ก็ดูจะไปในทิศทางเดียวกับนโยบายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว และนโยบายต่อสถานการณ์ผู้ลี้ภัย จากการสู้รบในเมียนมาของบางพรรคการเมืองหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น