“อ.เจษฏา” ตั้งข้อสังเกตงานวิจัย “กรมประมง” DNA ปลาหมอคางดำ มีความต่างตามแหล่งน้ำ ชี้จำเป็นต้องหาที่มาให้ชัด – Top News รายงาน
จากกรณีที่มีผู้ยื่นฟ้อง บริษัทที่นำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัย ซึ่งเป็นการนำเข้าแบบถูกกฎหมายรายเดียวในประเทศไทย
ล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ที่มี นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง เป็นประธาน ได้ตั้งข้อสังเกตุจากงานวิจัยตีพิมพ์ออกมา ตั้งแต่ 2562 – 2565 ของกรมประมง ถึงการระบาดของปลาหมอคางดำ ที่กระจายในหลายพื้นที่ และมีการศึกษาถึงระดับพันธุกรรม หรือ DNA และพบข้อบ่งชี้ว่าปลาแต่ละที่”มีพันธุกรรมที่แตกต่างกันตั้งแต่ต้น”
อ.เจษฎา อธิบายว่า แม้แต่ละพื้นที่จะมีความใกล้ชิดกัน แต่ก็พบที่ต่างกันด้วย อย่างที่สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิดกัน แต่ทางด้านฝั่งตะวันออก เช่นระยอง ก็พบว่ามี DNA ห่างและมีความเฉพาะ อีกกรณีปลาที่พบในจังหวัดเพชรบุรีมีความใกล้ชิด แต่เมื่อเทียบกับที่ในจังหวัดประจวบฯจะกระโดดไปอีก จึงตั้งข้อสังเกตได้ว่าปลาอาจสามารถเปลี่ยนพันธุกรรมได้เองหรือไม่ หรืออาจมาจากการบริษัทที่นำเข้าแต่มาทีแรก แต่คำถามที่ตามมาคือ “อาจมาจากคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ขออนุญาตินำเข้ามาก็เป็นไปได้ เพราะธุรกิจเลี้ยงปลาสวยงาม หรือปลาแปลกในประเทศไทยนั้นมีอยู่ และการลักลอบนำเข้าปลาก็เกิดขึ้นจริง” ซึ่งมีหลากหลายชนิด ไม่ใช่เฉพาะแค่ปลาหมอสี จึงก็ไม่ควรตัดประเด็นที่ว่า “อาจหลุดมาจากบริษัทอื่น ๆ ที่ลอบนำเข้ามา” ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ไปเจอปลาหมอคางดำที่ต่างพันธุกรรมในระยองและประจวบ และก็เป็นไปได้ว่า มีการนำเข้ามาคนละล็อตกับที่ตกเป็นข่าว