BBC และ AFP รายงานว่าบลิงเคนและแลมมี่เดินทางด้วยรถไฟจากโปแลนด์มาถึงกรุงเคียฟแล้วในวันนี้ (พุธที่ 11 กย.) โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 9 ชั่วโมง ถือเป็นการเดินทางร่วมกันที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักของสองรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยบลิงเคนและแลมมี่จะพบหารือกับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเรียกร้องจากผู้นำยูเครนโดยตรงเรื่องที่เซเลนสกี้ต้องการให้ชาติพันธมิตรตะวันตก ลดข้อจำกัดการใช้อาวุธในการตอบโต้รัสเซีย
ทั้งนี้เซเลนสกี้ได้เรียกร้องขอให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนไฟเขียวให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลในการโจมตีลึกเข้า่ไปในดินแดนของรัสเซีย โดยเฉพาะขีปนาวุธ ATACMS ที่สหรัฐแอบส่งมาให้ก่อนหน้านี้ แต่จำกัดให้ยูเครนใช้โจมตีเฉพาะในพื้นที่ที่รัสเซียยึดครองและบริเวณพรมแดนเท่านั้น ทั้งนี้ ATACMS สามารถยิงไกลถึง 300 กิโลเมตร นอกจากนี้เซเลนสกี้ก็เรียกร้องอังกฤษให้ผ่อนคลายข้อจำกัดเรื่องการใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลสตอร์ม ชาโดว์ซึ่งยิงได้ไกล 250 กิโลเมตรเช่นกัน เพื่อหวังโจมตีเป้าหมายทางทหารของรัสเซีย
ก่อนหน้านี้ไบเดนคัดค้าน โดยยืนยันไม่ต้องการจะเผชิญหน้าโดยตรงกับรัสเซีย แต่ล่าสุดสหรัฐออกมากล่าวหาอิหร่านว่าจัดหาขีปนาวุธพิสัยไกลให้กับรัสเซีย พร้อมแสดงความวิตกว่ารัสเซียจะใช้ขีปนาวุธของอิหร่านในการโจมตีภูมิภาคตะวันตกของยูเครน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ยังปลอดการโจมตีจากรัสเซีย อย่างไรก็ตามอิหร่านปฏิเสธข้อกล่าวหายืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน
หลังจากพบพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ของอังกฤษที่ทำเนียบขาวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาในประเด็นอิหร่าน สองผู้นำจึงตัดสินใจที่จะยอมทำตามข้อเรียกร้องของเซเลนสกี้ ก่อนที่จะส่งสองรัฐมนตรีต่างประเทศไปยังเคียฟเพื่อพูดคุยกับเซเลนสกี้ก่อนเปิดไฟเขียว
ด้านดมิทรี่ เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินออกมาประกาศว่าหากยูเครนได้ไฟเขียวให้ใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลโจมตีลึกเข้ามาในรัสเซีย รัสเซียจะใช้มาตรการตอบโต้อย่างแน่นอน โดยไม่แจงว่าจะตอบโต้อย่างไร
ทั้งนี้สหรัฐคาดการณ์ว่ารัสเซียจะใช้ขีปนาวุธพิสัยใกล้ของอิหร่านยิงถล่มยูเครนเพื่อเป็นการตอบโต้ภายใน 2-3 สัปดาห์นี้