ทีนาเช ฟาราโว โฆษกสำนักงานอุทยานและสัตว์ป่าซิมบับเว บอกสำนักข่าว CNN ว่า รัฐบาลอนุมัติแผนฆ่าช้าง 200 ตัว เนื่องจากประชากรเกือบครึ่งของประเทศ กำลังเผชิญความอดอยากรุนแรง การฆ่าช้างเพื่อเอาเนื้อ จะเริ่มขึ้นทันทีที่จัดการงานเอกสารต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว โดยจะพุ่งเป้าไปยังพื้นที่ที่มีประชากรช้างจำนวนมาก
ซิมบับเว มีประชากรช้างมากเป็นอันดับสองของโลก ที่จำนวนราว 8 หมื่น 4 พันตัว เกินจากพื้นที่ธรรมชาติที่รองรับได้ 4 หมื่น 5 พันตัว
ซิเทมบีโซ นีโอนี รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมซิมบับเว กล่าวต่อสมาชิกรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ซิมบับเวมีช้างเกินจำนวนที่ป่าของซิมบับเวรองรับได้ การมีประชากรสัตว์ป่ามากเกินไปในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง จะก่อปัญหาขาดแคลนทรัพยากร บังคับให้พวกมันออกมาข้างนอก หาน้ำหาอาหาร เกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างคนกับช้างตามมา รัฐบาลได้หารือกับหน่วยงานอุทยานและชุมชนหลายแห่ง ว่าจะดำเนินการตามนามิเบีย เพื่อจะได้นับจำนวนประชากรช้างด้วย และระดมกลุ่มสตรีมาทำเนื้อตากแห้ง แพ็คใส่ถุง แจกจ่ายชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับโปรตีน
เมื่อเดือนที่แล้ว นามิเบีย อนุมัติแผนฆ่าสัตว์ป่าหลายชนิดรวมถึงช้าง 700 ตัว
กระทรวงป่าไม้และสิ่งแวดล้อมนามิเบีย แจ้งว่า ได้ฆ่าสัตว์ตามแผนการนี้ไปแล้วกว่า 150 ตัว ได้เนื้อมากว่า 5 หมื่น 7 พัน 700 กิโลกรัม ( 125,000 ปอนด์) ชำแหละเนื้อแจกจ่ายประชาชนไปแล้ว
คีธ ลินเซย์ ที่ปรึกษาทรัพยากรธรรมชาติและนักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์ กล่าวกับ CNN ว่ารู้สึกไม่สบายใจกับแผนการใช้สัตว์ป่าแก้ความไม่มั่นคงทางอาหาร เกรงว่าจะกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น และหากอุปสงค์เนื้อสัตว์ป่ามีมาอย่างต่อเนื่อง ก็จะนำไปสู่ความไม่ยั่งยืน แต่ ฟาราโว โฆษกสำนักงานอุทยานและสัตว์ป่าซิมบับเว กล่าวว่า การตัดสินใจฆ่าช้างครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกนับจากปี 2531 ยังเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างด้วย หลังจากเกิดเหตุช้างบุกอาละวาดทำร้ายคนในชุมชนหลายครั้ง
สื่อท้องถิ่น รายงานว่า ความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าในปีนี้ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 31 รายในซิมบับเว
ซิมบับเวและนามิเบีย เป็นเพียงสองประเทศในทวีปแอฟริกาตอนใต้ ที่ได้รับผลกระทุบรุนแรงจากปรากฏการณ์เอลนินโญ่ ทำให้ฝนตกน้อยมากมาตั้งแต่ต้นปี