อัยการสูงสุด สั่งฟ้อง 8 เจ้าหน้าที่รัฐ คดีตากใบ

อัยการสูงสุด สั่งฟ้อง 8 เจ้าหน้าที่รัฐ คดีตากใบ ขนย้ายม็อบ อัดกันจนขาดอากาศหายใจ

อัยการสูงสุด สั่งฟ้อง 8 เจ้าหน้าที่รัฐ คดีตากใบ

 

ข่าวที่น่าสนใจ

18 ก.ย.2567 เมื่อเวลา 10.30 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยนายณรงค์ ศรีระสันต์ อัยการพิเศษฝ่ายแผนและช่วยเหลือทางกฎหมาย และนายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันแถลงกรณีอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีตากใบ

 

 

นายประยุทธ กล่าวว่า คดีนี้อัยการสูงสุดได้รับสำนวนวิสามัญฆาตกรรมและสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลาจากพลตำรวจโทอิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ซึ่งทั้งสองคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ตากใบ ได้จับกุมตัวนายกามา อาลี กับพวกรวม 6 คน ผู้ต้องหาที่เป็นอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) กรณีนำอาวุธลูกซองของราชการ ที่ใช้คุ้มครองหมู่บ้านไปมอบให้แก่คนร้าย แล้วแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่า อาวุธปืนดังกล่าวถูกคนร้ายปล้นไป จึงถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จ และยักยอกทรัพย์

ต่อมาในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เวลาประมาณ 10.00 น. ได้มีประชาชนเป็นกลุ่มมวลชนประมาณ 300-400 คน มาชุมนุมกันที่หน้า สภ.ตากใบ เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และมีประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเวลา 13.00 น. พลโทพิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 (ในขณะนั้น) ได้สั่งให้เลิกการชุมนุม ซึ่งพื้นที่อำเภอตากใบในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ระหว่างการประกาศการใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งได้ตามกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บิดามารดาของผู้ต้องหาทั้ง 6 มาร่วมเจรจา แต่ไม่เป็นผล โดยผู้ชุมนุมเสนอเงื่อนไข เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดทันที พร้อมทั้งโห่ร้อง ขับไล่ ยั่วยุเจ้าหน้าที่ เหตุการณ์วุ่นวายได้เพิ่มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

พลตรีเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้ต้องหาที่ 1 ในคดีวิสามัญฆาตกรรม (ยศในขณะนั้น) ได้เรียกกำลัง จากหน่วยต่างๆ และจัดรถยนต์บรรทุก จำนวน 25 คัน มาเตรียมพร้อมสลายการชุมนุม จนกระทั่งในเวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่จึงเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมกลุ่มผู้ประท้วงขึ้นรถบรรทุกทั้ง 25 คัน เฉลี่ยคันละ 40 – 50 คน เพื่อออกเดินทางในเวลาประมาณ 19.00 น. นำผู้ชุมนุมทั้งหมดไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร เวลาประมาณ 21.00 น. เมื่อนำผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุกปรากฏว่า มีผู้ถูกควบคุมถึงแก่ความตายทั้งหมด 78 คน โดยรถบรรทุกที่มีผู้ถึงแก่ความตาย มีผู้ต้องหาที่ 2, 3, 4, 5, 6 และ 8 เป็นพลขับ โดยมีผู้ต้องหาที่ 7 เป็นผู้ควบคุมขบวนรถ พนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี ได้กล่าวหา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมและสำนวนชันสูตรพลิกศพ โดยทั้ง 2 คดีมีรายละเอียด ดังนี้

1. สำนวนวิสามัญฆาตกรรมมีพันตำรวจเอกพัฒนชัย ปาละสุวรรณ เป็นผู้กล่าวหา มีผู้ต้องหา ทั้งหมด 8 คน ประกอบด้วย พลเอกเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้ต้องหาที่ 1, ร้อยตรีณัฐวุฒิ เลื่อมใส ผู้ต้องหาที่ 2, นายวิษณุ เลิศสงคราม ผู้ต้องหาที่ 3, เรือโทวิสนุกรณ์ ชัยสาร ผู้ต้องหาที่ 4, นายปิติ ญาณแก้ว ผู้ต้องหาที่ 5, พันจ่าตรีรัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 6, พันโทประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ต้องหาที่ 7 และร้อยโทฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 8 ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 288 คดีดังกล่าว ซึ่งพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง โดยอ้างว่าผู้ต้องหาทั้งหมดปฏิบัติราชการตามหน้าที่

2. สำนวนชันสูตรพลิกศพเกี่ยวกับการตายของผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้ง 78 คนดังกล่าว พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2547 และพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี เพื่อไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามขั้นตอนของกฎหมายในปีเดียวกัน ต่อมาในระหว่างไต่สวน ได้มีการโอนสำนวนมาทำการไต่สวนที่ศาลจังหวัดสงขลา โดยญาติผู้ตายได้แต่งตั้งทนายเข้ามาถามค้านการไต่สวนของศาลด้วย และในปี 2548 ศาลจังหวัดสงขลาได้ไต่สวนเสร็จสิ้น และมีคำสั่งว่าผู้ตายทั้ง 78 คน ตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หลังจากศาลมีคำสั่งได้ส่งคืนคำสั่งพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับพนักงานอัยการ และในปี 2548 พนักงานอัยการ ได้ส่งเอกสารที่ได้รับจากศาลพร้อมถ้อยคำสำนวนทั้งหมดคืนให้กับพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการส่งเอกสารทั้งหมดพร้อมสำนวนวิสามัญฆาตกรรมให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณามีความเห็นและคำสั่ง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งคดีวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ฆ่าตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 วรรคท้าย

3. หลังจากอัยการสูงสุดได้รับสำนวนวิสามัญฆาตกรรมและสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของ ศาลจังหวัดสงขลาจากพลตำรวจโทอิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วได้มีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติมในหลายประเด็น และกำหนดให้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติม ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ส่งผลสอบสวนทั้งหมดให้กับอัยการสูงสุด ในวันที่ 20 สิงหาคม 2567

ต่อมา วันที่ 12 กันยายน 2567 อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนแล้วมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 โดยวินิจฉัยว่า จากพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน แม้ผู้ต้องหาทั้ง 8 ประกอบด้วย พลเอกเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้ต้องหาที่ 1, ร้อยตรีณัฐวุฒิ เลื่อมใส ผู้ต้องหาที่ 2, นายวิษณุ เลิศสงคราม ผู้ต้องหาที่ 3, เรือโทวิสนุกรณ์ ชัยสาร ผู้ต้องหาที่ 4, นายปิติ ญาณแก้ว ผู้ต้องหาที่ 5, พันจ่าตรีรัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 6, พันโทประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ต้องหาที่ 7 และร้อยโทฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 8 จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถ เพียงจำนวน 25 คัน ในการบรรทุกผู้ชุมนุมประมาณพันกว่าคน อันเป็นการบรรทุกที่แออัดเกินกว่าจะเป็นวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม โดยผู้ต้องหาที่ 1 ที่ 7 รู้อยู่แล้วว่าจำนวนรถกับจำนวนคนไม่เหมาะสมกัน ผู้ต้องหาที่ 2 ถึงที่ 6 และที่ 8 ซึ่งเป็นคนขับรถก็เห็นถึงสภาพการบรรทุกผู้ชุมนุมดังกล่าว อันเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่

การกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายได้ ดังนั้น การกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น คดีมีพยานหลักฐานพอฟ้อง จึงสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 ตามข้อกล่าวหาดังกล่าว

เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้เรียกผู้ต้องหาที่ 1 ถึงที่ 8 มารับข้อกล่าวหาตามข้อกล่าวหา เมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องดังกล่าวแล้ว อัยการสูงสุดได้แจ้งคำสั่งไปยัง ผบ.ตร. เพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้ง 8 พร้อมแจ้งสิทธิและพฤติการณ์แห่งคดีตาม ป.วิอาญา มาตรา 134 และส่งตัวให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีต่อไป

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยอีกว่า ส่วนสำนวนคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลเอง ตัวผู้ต้องหาไม่ใช่ชุดเดียวกัน มีเพียงพลเอกเฉลิมชัย เป็นผู้ต้องหาคนเดียวที่มีชื่อตรงกันทั้งในสำนวนคดีของตำรวจและคดีของราษฎร ส่วนจะมีรวมสำนวนคดีทั้งของตำรวจและราษฎรหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล สำหรับการพิจารณาในเรื่องของอายุความ ขึ้นอยู่กับที่ศาลประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวไว้แล้ว ในส่วนของสำนักงานอัยการไม่มีข้อมูล

สำหรับสำนวนคดีของราษฎร ซึ่งมี พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นหนึ่งในผู้ต้องหานั้น ได้รับความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 และอยู่ระหว่างสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ศาลได้มีหนังสือด่วนที่สุดไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขออนุญาตจับกุม รวมทั้ง มีหมายเรียก และมีหนังสือด่วนที่สุดให้พลเอกพิศาล แจ้งว่า ศาลได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ขอให้พลเอกพิศาล แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสละความคุ้มกันและมาศาลในนัดหน้า ซึ่งศาลนัดในวันที่ 15 ตุลาคมนี้

 

 

ทั้งนี้ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกรณีที่คดีตากใบใช้เวลาพิจารณาในชั้นพนักงานสอบสวนก่อนมาถึงชั้นอัยการนานจนใกล้จะหมดอายุความในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ มาจากเหตุผลใดแต่ยอมรับว่าคดีนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ใช้เวลาจนเกือนจะหมดอายุความ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ทัพฟ้าดีเดย์ "416 Back to School" ลุยฟื้นฟูโรงเรียนที่เชียงราย หลังเจอวิกฤตน้ำท่วม ให้กลับมาปกติเร็วที่สุด
"ยาย-น้า" เปิดใจทั้งน้ำตา ปมครูเบญสอบติดได้อันดับ 1 แต่ชื่อหาย ด้านคนในหมู่บ้าน เริ่มไม่มั่นใจระบบราชการ หวั่นเกิดซ้ำรอย
เตือน 54 จังหวัด รับมือฝนถล่มหนัก ระวังอันตราย "น้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก" กทม.ก็ไม่รอด
"ผอ.กศน." โต้วุ่น ปัดเบี้ยวงาน-นอนกินเงินเดือน ยันทำงานตามปกติ ด้าน "อธิบดี กสร." ลั่นตั้งกก.สอบไม่เกิน 2 อาทิตย์ได้ข้อสรุปแน่
ไอเดียเก๋  "ผู้ใหญ่บ้าน" นำลูกทีมสวมชุดฮีโร่ "ย่างบาร์บีคิวขาย" บริการส่งถึงบ้าน ยอดขายปังวันละ 400 ไม้
"ลุค อิชิคาว่า" นักแสดงลูกครึ่ง ร้องปอท.ถูกใส่ร้ายผ่านโซเชียลฯ สร้างความเสื่อมเสีย วอนชาวเน็ตอย่าเชื่อพวกหิวแสง
แน่นสำนักพม.ขอนแก่น "ผู้พิการ" แห่ต่ออายุ-ทำบัตรใหม่ รอรับเงินหมื่น
สุดเศร้า "สาวใหญ่" ร้องถูก "ผัวตำรวจ" ซ้อมอ่วม ซ้ำพยายามล่วงละเมิดลูกเลี้ยง ยันขอดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
บริษัทผลิตเพจเจอร์มรณะที่แท้เป็นของอิสราเอล
เลบานอนแบนเพจเจอร์และวอล์กกี้ทอล์กกี้บนเครื่องบิน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น